หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระราชพิธีสิบสองเดือน 3/4

    พระราชพิธีเดือนเจ็ด พระราชพิธีเคณฑะคือทิ้งข่าง 
                เป็นพิธีการของพราหมณ์ที่ทิ้งข่างเสี่ยงทายตามตำรับไตรเพท เป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายห้ามการประทุษร้าย ไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทายเห็นว่า พระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่ 
    พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท 
                ตามกฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้เป็นความรวม ๆ ไม่ชัดเจนเหมือนอย่างพระราชพิธีอื่น ๆ คือ ที่รัตนสิงหาศน์เบ็ญจาเก้าชั้น ฉัตรทอง ฉัตรนาค ฉัตรเงิน และฉัตรเบญจรงค์ ส่วนในจดหมายของขุนหลวงหาวัดใจความว่า เสด็จสรงสนานในมณฑปกลางสระ ปุโรหิตถวายมุรธาภิเษกแล้วจึงถอดฉลองพระองค์ เปลื้องพระภูษาแก่พราหมณ์ แต่ภายหลังว่าเป็นพิธีล้างพระบาท จึงเอาความอะไรแน่ไม่ได้ พิธีนี้ก็ได้สูญหายไป 
    การพระราชกุศลสลากภัตร 
                จากหนังสือนพมาศกล่าวว่าทำในวันวิสาขบูชา แต่เพราะการพระราชพิธีสำหรับเดือนเจ็ดได้ยกเลิก ว่างเว้นไปตลอดเดือนด้วยเป็นฤดูฝน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีสลากภัตรเป็นการกุศลขึ้นแทน การพิธีนี้ให้พระสงฆ์จับสลากตามแต่ผู้ใดจะได้สลากภัตร นับเป็นภัตรอันหนึ่งในเจ็ดอย่างไม่ได้กำหนดเวลาทำพิธีไว้แน่นอน 
    พระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา 
                การพระราชกุศลนี้กระทำเป็นการประจำปีไม่ขาด คือในบรรดาวัดหลวงที่มีนิตยภัตรสองสลึงแล้วจะมีเทียนพรรษาอีกอย่างหนึ่ง เวลาที่จะหล่อเทียนก็บอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และเจ้าภาษีนายอากร มีการประชุมใหญ่ในวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนเจ็ดทุกปีมิได้ขาด สำหรับปีอธิกมาส รอการหล่อเทียนไว้ในวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนแปด บุรพสาธ รูปสัณฐานของเทียนพรรษานั้น วังหลวงกับวังหน้าไม่เหมือนกัน วังหลวงใช้รูปบัวปลายเสาวังหลวง วังหน้าใช้รูปบัวปลายเสาวังหน้า 
    การพระราชกุศลวันที่ ๓๑ พฤษภาคม 
                เป็นการทำบุญพระอัฐิหมู่ใหญ่ ไม่เป็นการพระราชกุศลประจำแผ่นดิน นับเป็นการในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินตามกาลสมัยเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภไว้ว่าหากต่อไปภายหน้าการพระราชกุศลเฝือนักก็ควรจะเลิกเสียไม่ต้องทำก็ได้

    พระราชพิธีเดือนแปด ตามกฎมณเฑียรบาลรายย่อจดหมายไว้ว่า เดือนแปดเข้าพระวัสสา ในหนังสือนพมาศกล่าวไว้ว่า เป็นการในพระพุทธศาสนา น่าจะเรียกว่าเป็นการพระราชกุศลมากกว่า จะเรียกว่าการพระราชพิธี เป็นประเพณีเมื่อถึงฤดูฝนพระสงฆ์หยุดอยู่ ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นการจำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่ให้ท่องเที่ยวไป ต้องอยู่จำพรรษาในวัดแห่งเดียวให้ครบ ๓ เดือน 
    การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา 
                 เทียนพรรษาที่ต้องลงทุนรอนมากก็เป็นที่ชื่นชมในพระราชกุศล เทียนพรรษานี้เมื่อประดับประดาเครื่องพิมพ์สีผึ้งเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งไปตามหัวเมืองให้ทันจุด เหลือนอกนั้นให้เป็นของกรุงเทพ ฯ ให้ยกมาตั้งที่เฉลียงท้องพระโรง มีสายสิญจ์วงรอบ พระสงฆ์ราชาคณะ ๒๐ รูป เริ่มสวดตั้งแต่เริ่มขึ้น ๑๓ ค่ำ พระพุทธรูปให้พระปางห้ามสมุทรเป็นประธาน ในพิธีขึ้น ๑๔ ค่ำ เลี้ยงพระ ๑๔ ค่ำ กลางคืนล่าง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เช้าจึงเสด็จพระราชดำเนิน ออกเลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป 
                 เทียนพรรษาที่จุดนั้น ต้องใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นลงยาราชาวดี เพราะต้นตำราบอกว่ามาจากดวงอาทิตย์ เป็นไฟบริสุทธิถือว่าเป็นมงคล 
    การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม
    เมื่อพระราชทานเทียนให้ไปจุดตามวัดต่าง ๆ เสร็จก็เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชพิธีในเวลาเช้า บ่ายวันแรม ๑ ค่ำเวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินสดับปกรณ์กาลานุกาล เหมือนอย่างเดือนอื่น ๆ ทุกคราว จะแปลกแต่มีเครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษา ทรงประเคนองค์ละตะลุ่ม เมื่อพระสงฆ์กลับเสด็จพระราชดำเนินออก เปลื้องเครื่องทรงพระมหามณีรัตนปฏิมากร 
                 อนึ่ง ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษา ๓ วันนี้ มีการสวดมนต์มหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
                 การเปลื้องเครื่องทรงพระมหามณีรัตนปฏิมากร กำหนดในเวลาเปลี่ยนตามฤดูกาลปีละ ๓ ครั้ง คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดเข้าวสันตฤดูไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ทรงเครื่องอย่างห่มดองตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบสอง ใปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ เป็นเหมันตฤดู เปลี่ยนเป็นผ้าทรงคลุม ทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาราชาวดีร้อยลวดคลุมทั้งสองพระพาหา ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือนสี่ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด เป็นคิมหันตฤดู ทรงเครื่องต้นเป็นเครื่องทองคำลงยาราชาวดี ประดับเพชรพลอยต่าง ๆ

    พระราชพิธีเดือนเก้าพระราชพิธีตุลาภาร เป็นพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง ตามจดหมายขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า พระราชพิธีนี้ให้เอาเงินชั่งให้เท่าพระองค์ แล้วสะเดาะพระเคราะห์ให้แก่พราหมณ์ แต่ตามกฎมณเฑียรบาลนั้นมีพิธีมากมาย และเป็นการใหญ่ มีตราชูใหญ่อยู่กลางท้องพระโรงพระเจ้าแผ่นดินทรง"ถีบ" (ชั่ง) แล้วพระอัครมเหสีถีบ แล้วพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์แห่กลับแล้วมีงานสมโภชเลี้ยง 
    พระราชพิธีพรุณศาสตร์ 
                 พระราชพิธีนี้ไม่มีในกฎมณเฑียรบาล แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าเป็นพิธีสำคัญและมีมาแต่โบราณ จะเลิกเสียไม่ได้ พระราชพิธีนี้เมื่อครั้งสุโขทัยเป็นพิธีของพราหมณ์ ต่อมาได้ทำพร้อมกับพิธีสงฆ์ โรงพิธีคล้ายกับโรงพิธีอื่น ๆ เป็นพิธีที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ ได้กล่าวมาแล้วในพิธีพืชมงคล ลักษณะพิธีพรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นปีใดที่ฝนตกบริบูรณ์ 
    การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต 
                การพระราชกุศลนี้ มีกำหนดตามวันซึ่งตรงกับวันประสูติของพระบรมอัฐิและพระอัฐินั้น ๆ รายไปตามเดือนวันต่าง ๆ กัน การพระราชกุศลนี้ เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำเป็นการภายในเงียบ ๆ คืออัญเชิญพระบรมอัฐิไม่มีประโคมกลอง ทรงกระทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมอัฐิตั้งแว่นฟ้าทองคำสองชั้น บุษบกทองคำนี้มีเครื่องสูงบังแทรก ตั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคบนม้าทองใหญ่สองข้างแว่นฟ้า เครื่องนมัสการ โต๊ะทองคำลงยาราชาวดี มีเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิสำรับหนึ่ง ถ้ามีพระอัฐิใช้พานทอง แต่การบูชาเดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำมานานแล้ว


    • Update : 14/6/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved