หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
CC006 259.00  1
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    มาตรการคุมบุหรี่ใหม่ ห้ามส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ

    มาตรการคุมบุหรี่ใหม่ ห้ามส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ

              จากการศึกษาวิจัยหลาย ๆ สถาบันทั่วโลก พบว่าการโฆษณาบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นสูบบุหรี่ รัฐบาลของประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลก จึงต้องดำเนินการออกกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่
              กรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก ได้สนับสนุนให้ประเทศภาคี มีกฎหมายห้ามการโฆษณา การส่งเสริมการตลาด และการให้การสนับสนุนของอุตสาหกรรมยาสูบที่ครอบคลุมทุกด้าน

              โดยจะต้องใช้การบังคับกับทุกรูปแบบของการสื่อสาร การแนะนำ หรือการกระทำเชิงพาณิชย์ รวมทั้งรูปแบบของการอุดหนุนแก่กิจกรรมต่าง ๆ หรือบุคคลใด ๆ โดยมีจุดมุ่งหมาย ผล หรือผลที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือการใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
              สุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่า มาตรการควบคุมการโฆษณายาสูบของประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเกือบครบถ้วนใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 เช่น ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้, ห้ามโฆษณาสินค้าที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และห้ามส่งเสริมการขายยาสูบโดยใช้เครื่องขาย เป็นต้น

              แต่ประเด็นการโฆษณาทางอ้อมหรือการโฆษณาแฝง กฎหมายไทยยังไม่มีการห้ามในเรื่องนี้ จึงมีการดำเนินการ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ... (ฉบับใหม่) ซึ่งมีการควบคุมเรื่อง การห้ามเผยแพร่ข่าวสาร การให้การสนับสนุนโดยยาสูบ หรือ CSR ในทุกสื่อ และปรับปรุงคำนิยาม "การโฆษณา" ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล "พริตตี้" ในการส่งเสริมการขายยาสูบ เป็นต้น
              ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ผลสำรวจการสูบบุหรี่ของเยาวชน 13-15 ปีของไทยพบว่า ร้อยละ 31 เคยพบเห็นการโฆษณาบุหรี่ ร้อยละ 9.3 มีสิ่งของที่มีตราหรือโลโก้บุหรี่ และร้อยละ 5.5 เคยได้รับบุหรี่ทดลองฟรีจากบริษัทบุหรี่
              นอกจากนี้ผลงานวิจัยที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลกเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณายาสูบเช่นประเทศไทย กับประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม พบว่าภายใน 10 ปี อัตราการบริโภคยาสูบในประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณาทุกรูปแบบลดลงกว่าร้อยละ 9 ในขณะที่ประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม อัตราการสูบจะลดลงน้อยมากเพียงร้อยละ 1

              และจากการทำการประเมินผลของมาตรการต่าง ๆ ในประเทศ ไทย พบว่า 1 ใน 4 ของอัตราการสูบที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย ทั้ง 2 มาตรการการนี้ช่วยทั้งป้องกันผู้สูบหน้าใหม่และช่วยให้ผู้ที่สูบอยู่เลิกสูบ
              "ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือการห้ามโฆษณา การส่งเสริมการขาย และสื่อสารการตลาดทุกรูปแบบเท่านั้น ที่จะมีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคยาสูบลง ในขณะที่การห้ามแบบมีข้อยกเว้นมีประสิทธิภาพต่ำมากหรือไม่มีประสิทธิภาพเลย แต่ปัญหาคือปัจจุบันบริษัทบุหรี่ใช้วิธีการสื่อสารการตลาดแบบใหม่ ๆ ซึ่งมีอิทธิผลต่อการรับรู้ของเยาวชนอย่างมาก และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของประเทศไทยยังมีช่องโหว่อยู่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข พ.ร.บ ดังกล่าวให้เท่าทันและเป็นปัจจุบันมากขึ้น"ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าว

              สำหรับเรื่องที่บริษัทบุหรี่ไปฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือนจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยอ้างว่าการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนไม่ทำให้ลดการสูบบุหรี่นั้น
              ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารขององค์การอนามัยโลกที่รวบรวมข้อมูลจาก 41 ประเทศระหว่าง ปี 2550-2553 ที่ใช้มาตรการควบคุมยาสูบหลาย ๆ มาตรการพร้อมกัน พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 14.8 ล้านคน เท่ากับลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบลงได้ 7.4 ล้านคน โดยเป็นผลจากการขึ้นภาษี 3.5 ล้านคน การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 2.5 ล้านคน การพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 700,000 คน การรักษาให้เลิกบุหรี่ 380,000 คน และการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย 306,000 คน

              "ข้อโต้แย้งที่ว่าประสิทธิภาพของภาพคำเตือนมีน้อย กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ควรขยายขนาดภาพคำเตือน ในความเป็นจริงมาตรการควบคุมยาสูบแต่ละมาตรการมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน แต่ละมาตรการจะเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน และไม่สามารถทดแทนกันได้ การขึ้นภาษีเพื่อทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นเพื่อให้คนสูบน้อยลงหรือเลิกสูบ การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ การพิมพ์ภาพคำเตือนเพื่อเตือนอันตรายของยาสูบ การห้ามโฆษณาเพื่อห้ามสิ่งกระตุ้นให้คนสูบบุหรี่ ดังนั้นทุกมาตรการจึงต้องนำมาใช้พร้อมกัน และต้องเพิ่มความเข้มข้นของแต่ละมาตรการดังการขยายขนาดภาพคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพที่สูงสุด"ศ.นพ.ประกิต กล่าวสรุป.


    • Update : 12/7/2556
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved