หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
CD011 .00  1
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระเจ้าปเสนทิโกศล

    Image

    พระเจ้าปเสนทิโกศล


    ๐ ชาติภูมิ

    พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามหาโกศล ผู้ครองนครสาวัตถี แคว้นโกศล เมื่อยังเป็นพระกุมารได้เสด็จไปศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ กรุงตักศิลา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับกรุงสาวัตถี ได้แสดงศิลปวิทยาที่ได้ศึกษามาให้หมู่ญาติมีพระชนก พระชนนีเป็นประธานได้ทอดพระเนตร ปเสนทิกุมารได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้ามหาโกศลเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้อภิเษกในราชสมบัติ เป็นพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล โดยมีเมืองสาวัตถี (Savatthi) หรือศราวัสตี (Sravasti) ในภาษาสันสกฤตเป็นราชธานี ในปกร์ฝ่ายสันสกฤตเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าประเสนชิต

    ราชอาณาจักรโกศลมีความกว้างขวางรองจากอาณาจักรมคธ จากแม่น้ำคุมติ (Gumti) ถึงเมืองคันฑัก (Gandak) และจากชายแดนเนปาลในปัจจุบันถึงฝั่งแม่น้ำคงคา ต่อมาพระองค์ก็ได้ผนวกแคว้นกาสี อันมีเมืองพาราณสีอยู่ในราชอาณาจักรอีกด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระชนมายุเท่ากับพระพุทธองค์ และในบรรดาพระมหากษัตริย์หลายเมืองพระองค์นับว่ามีความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์มากที่สุด พระพุทธองค์ประทับอยู่เมืองสาวัตถีนานที่สุด

    พระองค์มีสรีระที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ แม้จะเสด็จไปไหนก็ไม่สะดวก ทรงอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเคยทำสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรู แคว้นมคธผู้เป็นหลาน ๔ ครั้ง แต่ก็ต้องแพ้ทั้ง ๔ ครั้งเช่นกัน สาเหตุเพราะแย่งอาณาเขตแคว้นกาสี แต่ครั้งที่ ๕ พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะ เพราะจารบุรุษของพระองค์ได้แอบฟังเทคนิคการรบ จากพระธนุคคหติสสะสนทนากับพระทันตเถระ ที่เชตวันมหาวิหาร ด้วยว่าพระธนุคคหติสสะก่อนบวช เป็นนายทหารที่ฉลาดหลักแหลมและออกรบอย่างอาจหาญมาตลอด พระเจ้าอชาตศัตรูจึงถูกจับขังคุกที่สาวัตถีหลายปี แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่าเป็นหลานก็เลยปล่อยกลับไป

    พระองค์มีพระมเหสีหลายพระองค์ แต่ที่เด่นๆ คือ ๑. พระนางมัลลิกา ๒. พระนางวาสภขัตติยา มีพระโอรส หลายพระองค์ คือ ๑. เจ้าชายพรหมทัต (Brahmadatta) ๒. เจ้าชายวิฑูฑภะ (Vidudabha) ต่อมาเจ้าชายพรหมทัตก็ได้ออกบวชจนบรรลุพระอรหันต์ ส่วนเจ้าชายวิฑูฑภะยึดอำนาจจากพระองค์แล้วครองราชย์สมบัติต่อมา ก่อนที่เจ้าชายวิฑูโภะจะสวรรคตที่ริมฝั่งแม่น้ำ หลังนำทัพเข้าโจมตี เมืองกบิลดุ์ได้ไม่นาน


    ๐ การนับถือพระพุทธศาสนา

    พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภก (ผู้อุปถัมภ์ศาสนา) ที่สำคัญในสมัยพุทธกาล ทรงมีความรักและความเคารพพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ ทรงปราศรัยกับพระพุทธเจ้าในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้


    (ก) พบพระพุทธเจ้าครั้งแรก

    พระเจ้าปเสนทโกศลทรงสนพระทัยในเรื่องศาสนามาก ในสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิศาสนา ตั้งตนเป็นศาสดาสั่งสอนธรรมอยู่หลายท่าน ที่มีชื่อเสียงได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ ๖ ท่าน คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถนาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ และอชิตเกสกัมพล ซึ่งมักจะรวมเรียกว่าศาสดาทั้ง ๖

    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบกิตติศัพท์ (เสียงเล่าลือ) ดังกล่าวมีพระประสงค์จะพบพระอรหันต์ผู้ประกาศตนว่าเป็นพุทธะเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) จึงโปรดให้นิมนต์ศาสดาทั้ง ๖ ไปรับพระราชทานอาหารในพระราชวัง แล้วทรงตรัสถามตรงๆ ว่าท่านทั้งหลายสามารถปฏิญาณ (ยืนยัน) ได้หรือไม่ว่าเป็นพุทธะ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ศาสดาทั้ง ๖ เกรงพระบรมเดชานุภาพของพระราชา คิดว่าถ้าหากทูลว่าตนเป็นพุทธะ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสถามธรรมที่ลึกซึ้งอันเป็นพุทธวิสัย จะไม่อาจทูลตอบได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะถูกลงโทษฐานหลอกลวงมหาชนว่าเป็นพุทธะ จึงได้นิ่งเสีย ไม่มีผู้ใดกล้าปฏิญาณว่าตนเองเป็นพุทธะ เมื่อถูกถามซ้ำอีกไม่มีทางตอบบ่ายเบี่ยงเป็นอย่างอื่น จึงต้องยอมรับว่าพวกตนมิได้เป็นพุทธะ เป็นแต่คณาจารย์ธรรมดา คำที่เล่าลือกันว่าเป็นพุทธะนั้นเป็นเรื่องของสาวกบริวารที่ยกย่องกันเอง

    เมื่อพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในแคว้นมคธแล้ว อีก ๒ ปีต่อมาก็ได้แผ่ไปถึงแคว้นโกศล มีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบริจาคทรัพย์สร้างวัดในกรุงสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศลหลายแห่ง เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวันมหาวิหาร และนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างวัดบุพพาราม

    คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แล้วทูลถามว่าท่านพระโคดมทรงปฏิญาณได้หรือไม่ว่า ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม

    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ทรงปฏิญาณว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมแล้ว

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า บรรพชิตเหล่าอื่น เช่น ศาสดาทั้ง ๖ เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า ท่านเหล่านั้นปฏิญาณได้หรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ไม่มีผู้ใดปฏิญาณสักคน ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอายุมากแล้ว เป็นเจ้าลัทธิที่มหาชนยกย่อง ส่วนพระพุทธเจ้ายังทรงหนุ่มอยู่ ผนวชมาก็ไม่สู้นาน ไฉนพระองค์จึงกล้าปฏิญาณเล่า

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นของ ๔ อย่างว่าเป็นของเล็กน้อย” คือ

    (๑) อย่าดูถูก ดูหมิ่นกษัตริย์ว่ายังทรงพระเยาว์
    (๒) อย่าดูถูก ดูหมิ่นงูว่าตัวเล็ก
    (๓) อย่าดูถูก ดูหมิ่นไฟว่าเล็กน้อย
    (๔) อย่าดูถูก ดูหมิ่นภิกษุว่ายังหนุ่มอยู่

    ของ ๔ อย่างนี้ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะพระมหากษัตริย์แม้ยังทรงพระเยาว์ แต่ก็มีพระราชอำนาจมาก หากทรงพิโรธขึ้นอาจลงพระราชอาญาอย่างหนักได้ งูพิษแม้ตัวเล็กก็กัดคนให้ตายได้ ไฟเพียงเล็กน้อยก็อาจเผาบ้านเรือนผลาญชีวิตคนได้ พระภิกษุแม้ยังหนุ่ม แต่ก็เป็นผู้มีศีล ผู้ใดประทุษร้ายต่อภิกษุผู้มีศีล ผลแห่งกรรมชั่วย่อมแผดเผาผู้นั้น บุตรภรรยาและทรัพย์สมบัติของผู้นั้นย่อมพินาศ

    เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าแจ่มแจ้งนัก และปฏิญาณตนเป็นอุบาสกของถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


    (ข) ทรงพบหมู่พระสงฆ์

    ในวันหนึ่ง ขณะที่ประทับยืนบนปราสาท พระเจ้าปเสนทิโกศล ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์หลายพันรูป ไปฉันภัตตาหารในคฤหาสน์ของคหบดีผู้มั่งคั่ง มีท่านอนาถบิณฑิกะ เป็นต้น มีพระราชประสงค์จะถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ จึงได้ทรงให้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุเพื่อฉันภัตตาหารในพระราชวังตลอด ๗ วัน

    หลังจากนั้น ทรงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าฉันในพระราชวังเป็นประจำ แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธเพราะทุกคนต่างรอคอยพระองค์ ซึ่งต้องสงเคราะห์ประชาชนให้ทั่วหน้ากัน ประการสำคัญพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะไม่เสวยภัตตาหารในที่เดียวตลอดไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้า ส่งพระภิกษุไปฉันในพระราชวังเป็นประจำ พระพุทธเจ้าทรงมอบภาระนี้แก่พระอานนท์


    (ค) ทรงลืมจัดของถวายพระสงฆ์

    ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลืมจัดของถวายแด่พระสงฆ์ ที่เข้าไปฉันภัตตาหารในพระราชวังติดต่อกันถึง ๓ วัน ในวันหลังๆ จึงไม่มีภิกษุเข้าไปในพระราชวัง มีแต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ไม่พอพระทัยจึงเสด็จไปทรงตำหนิพระสงฆ์ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนิภิกษุ แต่ทรงชี้ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบว่า การที่สาวกของพระองค์ไม่เข้าไปฉันในราชสำนักเพราะยังไม่มีความคุ้นเคย


    (ง) ทรงเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า

    ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อเสด็จกลับไปแล้ว ทรงดำริว่าเราควรทำความคุ้นเคยกับภิกษุสงฆ์ จะทำอย่างไรดีหนอ ภิกษุสงฆ์จึงจะคุ้นเคยกับเรา ทรงดำริว่าถ้าเราอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงในตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า ภิกษุสงฆ์ก็จะเกิดความคุนเคยกับเรา เพราะคิดว่าเราเป็นญาติของพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงส่งพระราชสาส์นไปขอธิดาของวงศ์ศากยะ มาเพื่ออภิเษกเป็นพระมเหสี ปรากฏว่าทางศากยวงศ์ประชุมกันแล้วไม่เต็มใจที่จะถวาย แต่เนื่องด้วยเกรงพระราชอำนาจของพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงจำใจส่งเจ้าหญิงวาสภขัตติยา ธิดาของพระเจ้ามหานามะ ผู้เกิดจากนางทาสี (หญิงรับใช้ของพระเจ้ามหานามะ) ไปถวาย

    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัย อภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ต่อมาพระนางวาสภขัตติยาประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง คือ วิฑูฑภะ ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่าพระนางเป็นธิดาของนางทาสี ทรงกริ้วมาก รับสั่งให้ปลดพระนางวาสภขัตติยาจากตำแหน่งอัครมเหสี และวิฑูฑภจากตำแหน่งรัชทายาท และให้ริบเครื่องอิสริยยศที่เคยพระราชทานแก่พระนางวาสภขัตติยา และพระโอรส

    ต่อมาอีก ๒-๓ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงทูลเรื่องนี้ ด้วยความน้อยพระทัยว่า พระญาติของพระพุทธเจ้าประทานลูกทาสีมาให้เป็นอัครมเหสี

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มหาบพิตร พวกเจ้าศากยะไม่สมควรทำอย่างนี้ ธรรมดาเมื่อจะให้พระธิดาก็ควรให้พระธิดาที่มีพระชาติเสมอกัน” เป็นการแสดงความเห็นใจ ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงคลายความขุ่นพระทัยลงที่ทรงเห็นว่าพระทพุธเจ้าเป็นฝ่ายเดียวกับพระองค์ไม่เข้าข้างฝ่ายพระญาติ

    เมื่อพระเจ้าปเสนิโกศลได้ระบายความน้อยพระทัย และได้รับความเห็นใจจากพระพุทธเจ้าที่ทรงยอมรับว่าพวกเจ้าศากยะทำไม่ถูก เป็นการแสดงอารมณ์ร่วมแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงชี้แจงต่อไปว่า พระนางวาสภขัตติยาเป็นราชธิดาของกษัตริย์ ได้รับการอภิเษกในตระกูลของกษัตริย์ แม้วิฑูฑภะกุมารก็ถือกำเนิดจากกษัตริย์ วงศ์ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สำคัญ วงศ์ตระกูลฝ่ายบิดาเท่านั้นเป็นสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งในสมัยโบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงผู้ยากจนมีอาชีพหาบฝืน และโอรสที่เกิดจากอัครมเหสีนั้นต่อมาก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับพระโอวาทแล้ว ทรงเห็นจริงว่าวงศ์ตระกูลของบิดาเท่านั้นเป็นสำคัญ จึงโปรดให้คืนยศและตำแหน่งแก่พระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภะพระโอรสดังเดิม


    (จ) ทรงถวายอสทิสทาน

    ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลปราศรัยถึงเรื่องต่างๆ ก่อนจะเสด็จกลับได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งภิกษุ ๕๐๐ รูปรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ในพระราชฐาน และตรัสชวนประชาชนที่มาฟังธรรมในพระเชตวันมหาวิหารให้ไปร่วมอนุโมทนาทานนั้นด้วย

    เมื่อถึงเวลาพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ทรงทำภัตกิจที่ในวัง ชาวเมืองก็ไปร่วมอนุโมทนาด้วยมากมาย เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ชาวเมืองจึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับภิกษุ ๕๐๐ รูป เสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น และทูลเชิญเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งอำมาตย์-ราชบริพารมาอนุโมทนาด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลกับชาวเมืองผลัดกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระ และเชิญอีกฝ่ายหนึ่งมาร่วมอนุโมทนาอย่างนี้ ถึงฝ่ายละ ๖ ครั้ง ในครั้งแรกๆ ก็เกิดด้วยศรัทธาปสาทะ แต่ครั้งหลังๆ กลายเป็นแข่งขันกันไปโดยไม่รู้ตัว ชาวเมืองพยายามหาของดีๆ ของแปลกๆ เช่น พืช ผัก และผลไม้ที่หายากมาถวาย

    พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงพยายามจัดหาของที่ดีและประณีตให้มีแปลกมีใหม่ แต่ก็สู้ชาวเมืองไม่ได้สักครั้ง เพราะชาวเมืองมีจำนวนมากร่วมกันถวายทีหลัง จึงสามารถจัดของถวายให้แปลกให้ดีกว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปริวิตกถึงเรื่องนี้ จึงตรัสเล่าให้พระนางมัลลิกาเทวีทราบ พระนางมัลลิกาเทวีทรงหาวิธีที่จะให้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะชาวเมือง จึงจัดทานที่เรียกว่า “อสทิสทาน” แปลว่าทานที่หาผู้ทำเสมอมิได้ คือทานที่ไม่มีใครเหมือน

    พระนางมัลลิกาเทวีเป็นผู้ฉลาด แทนที่จะเอาชนะด้วยภัตตาหารที่แปลกที่ประณีตที่หายาก พระนางกลับเอาชนะด้วยพิธีการที่ยิ่งใหญ่จนชาวเมืองทำตามไม่ได้ คือ ให้ปลูกพระมณฑปใหญ่สำหรับเป็นที่ฉันภัตตาหารสำหรับพระ ๕๐๐ รูปที่กลางสนามหลวง ที่อาสนะสำหรับพระแต่ละรูป มีช้างยืนถือเศวตรฉัตรบูชาพระอยู่เบื้องบน และให้เจ้าหญิงแห่งราชตระกูลเป็นผู้ถวายภัตตาหาร ชาวเมืองไม่มีช้าง ไม่มีเศวตรฉัตร ไม่มีเจ้าหญิง จึงไม่อาจแข่งขันกับพระเจ้าปเสนทิโกศลได้


    (ฉ) พบพระพุทธเจ้าครั้งสุดท้าย

    ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมทฬุปนิคม ในแคว้นสักกะของพวกศากยะ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จประพาสหัวเมืองผ่านมาทางนั้น โปรดให้พักกองทัพไว้ไม่ไกลวัดนัก ตั้งพระราชหฤทัยจะเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ชื่อว่าทีฑการายนะรักษาไว้ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระคันธกุฎีกราบทูลถึงความที่พระองค์มีความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าด้วยเหตุต่างๆ เป็นอันมาก ในตอนสุดท้ายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นชาวโกศล หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ ปี หม่อมฉันก็มีอายุ ๘๐ ปีเหมือนกัน...”

    ในระหว่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระคันธกุฎีแต่เฉพาะพระองค์ ทีฆการายนะอำมาตย์เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์กลับไปกรุงสาวัตถี สถาปนาวิฑูฑภะซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี (แม่ทัพ) ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน เหลือไว้แต่ม้าตัวหนึ่งกับนางสนมคนหนึ่ง

    เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลลาเสด็จกลับออกมาจากพระคันธกุฎี ไม่พบทีฆการายนะอำมาตย์ ซึ่งพระองค์มอบให้รักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้จึงเสด็จไปยังค่ายที่พักพล พบเพียงม้าตัวหนึ่งกับนางสนมคนหนึ่ง สอบถามได้ความว่าทีฆการายนะอำมาตย์กับวิฑูฑภะเสนาบดียกกองทัพกลับกรุงสาวัตถีแล้วพร้อมทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็ทรงแน่พระทัยว่าเจ้าชายวิฑูฑภะเป็นขบถแน่ จึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อขอกำลังทหารจากพระเจ้าอชาตศัตรูราชาแห่งแคว้นมคธผู้เป็นพระราชนัดดาไปกู้ราชบัลลังก์คืน แต่เนื่องด้วยทรงพระชราและทรงเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง จึงสิ้นพระชนม์อยู่นอกประตูเมืองราชคฤห์ในราตรีที่เสด็จไปถึงนั่นเอง นางสนมที่โดยเสด็จก็ร้องไห้คร่ำครวญความทราบถึงพระเจ้าอชาตศัตรู จึงโปรดให้จัดการพระบรมศพให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ๐ บทบาทที่สำคัญ

    (ก) อำนาจ

    เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงช้างชื่อปุณฑรีกะ เลียบพระนคร ทอดพระเนตรเห็นภรรยาของคนยากจนคนหนึ่ง ทรงเกิดความรักมากจนหักห้ามพระทัยไม่ได้ เมื่อกลับถึงพระราชวัง จึงวางแผนที่จะยึดครองภรรยาของคนยากจนนั้น พระองค์ได้ทรงกลั่นแกล้งคนยากจนคนนั้นต่างๆ นานา แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น พระองค์จึงทรงส่งเขาไปหาของป่าในป่าลึก และทรงสั่งให้กลับมาก่อนประตูเมืองปิด ชายคนหนึ่งนั้นเที่ยวหาของได้ตามประสงค์ และกลับสู่เมืองทันเวลา แต่ไม่อาจเข้าเมืองได้ เพราะประตูถูกปิดก่อนเวลาปกติ เขาจึงเข้าอาศัยศาลาวัดนอนตลอดคืน

    ในตอนดึกคืนนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระสับกระส่าย เพราะทรงคิดถึงแต่ภรรยาคนยากจนนั้น บรรทมไม่หลับตลอดคืน พระองค์ทรงได้ยินเสียงประหลาด และตกพระทัยมาก รุ่งเช้า ตรัสเรียกโหรมาทำนาย โหรทนายว่าจะมีเคราะห์กรรมขนาดใหญ่ จะต้องบูชาด้วยการฆ่าสัตว์อย่างละ ๑๐๐ ตัว จึงจะเสดาะเคราะห์ได้ พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทรงสั่งให้จับสัตว์ประเภทละ ๑๐๐ ตัว ขังไว้เพื่อบูชายัญ ในจำนวนนั้นมีมนุษย์ ๑๐๐ คน รวมอยู่ด้วย สัตว์และมนุษย์เหล่านั้นร้องโหยหวนด้วยความกลัวตาย

    พระนางมัลลิกาเทวี มเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าปเสนทิโกศล ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเสียก่อน พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ประจักษ์ว่า เสียงร้องนั้นไม่ใช่เสียงที่ก่อเคราะห์กรรมแก่ผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นเสียงของสัตว์นรกที่กำลังเสวยผลกรรมของตน เนื่องจากประพฤติผิดในภรรยาของคนอื่น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสำนึกผิด หมดความใยดีในภรรยาของคนยากจน เสด็จกลับพระราชวังแล้วสั่งให้ปล่อยสัตว์และมนุษย์ที่ถูกขังไว้จนหมด


    (ข) ทรงแข่งกันทำบุญ

    ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประกาศให้ประชาชนทำทานแข่งกับพระองค์ เพราะมั่นพระทัยว่า จะไม่มีใครทำทานได้อย่างพระองค์เป็นแน่ แต่เมื่อถวายทาน กลับปรากฏว่าพระองค์ทรงพ่ายแพ้ต่อประชาชน เพราะประชาชนร่วมกันถวายจึงสามารถจัดทานได้อย่างมโหฬาร

    พระนางมัลลิกาเทวีทรงหาวิธีที่จะให้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะ จึงจัดทำทานที่เรียกว่า อสทิสทาน (ทานที่ไม่มีใครเหมือน) เลือกเอาแต่ประณีตที่ประชาชนไม่มี ผู้เป็นกำลังในการจัดไทยทานล้วนเป็นชาววัง พระองค์ทรงชนะประชาชนด้วยอสทิสทานนี้


    (ค) ทรงประสงค์จะได้ผู้มีบุญ

    พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นภัสดาของกันและกัน แต่คนมีบุญมากในแคว้นมคธมีถึง ๕ คน ในขณะที่แคว้นโกศลมีเพียงคนเดียว พระเจ้าปเสนทิโกศทรงขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งคนมีบุญไปอยู่แคว้นโกศลอีกหนึ่งคน พระเจ้าพิมพิสารจึงส่งธนัญชัยเศรษฐีไป ธนัญชัยเศรษฐีรอนแรมไปตลอดจนเข้าเขตแคว้นโกศล เมื่อไปถึงที่ที่ภูมิฐานดีแห่งหนึ่ง จึงกราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ทราบว่า บริวารของตนมีมาก หากเข้าไปอยู่ในเมืองจะเป็นการแออัด จึงขอสร้างเมืองใหม่ในบริเวณนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงอนุญาตและประทานนามเมืองนั้นว่า “สาเกต” (หมายถึงเมืองที่จับจองในเวลาเย็น)


    (ง) กลวิธีแก้การเสวยพระกระยาหารเกินส่วน

    ตามปกติ พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาการจุมาก วันหนึ่งเสวยพระกระยาหารแล้วยังไม่ทรงพักผ่อน เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงรู้สึกง่วงถึงกับบรรทมหลับในที่ประทับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงโอวาทว่า การบริโภคมากเป็นของไม่ดี เพราะจะทำให้เกิดการโงดง่วงเซื่องซึม คนที่บริโภคมากมักจะนอนเหมือนสุกรที่ถูกเลี้ยงจนอิ่ม การบริโภคพอประมาณจึงจะมีความสุข

    พระเจ้าปเสนทิโกศล ไม่อาจทรงจำพระโอวาทได้ เพราะทรงง่วงมาก ทรงให้พระภาคิไนย (หลาน) ชื่อ สุทัสสนะ จดจำเพื่อท่องให้สดับในเวลาเสวยพระกระยาหาร ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประสพสุข เพราะปฏิบัติตามพระโอวาทของพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลความจริงให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีทรัพย์ใดยิ่งกว่าความสันโดษ ไม่มีญาติประเภทใดจะเสมอเหมือนความคุ้นเคยกัน และสุขอื่นใดจะเหมือนสุขคือนิพพานหามีไม่”



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://clubchay.tripod.com/buddha/buddha11.html
    http://www.mcu.ac.th


    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved