หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    นางจิญจมาณวิกา

    Image

    นางจิญจมาณวิกา


    ในปฐมโพธิกาล คือระยะต้นแห่งการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า เมื่อพระสาวกของพระองค์มีมากประมาณไม่ได้ เมื่อเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากหยั่งลงในอริยภูมิ คือภูมิแห่งพระอริยะ คือเป็นพระอริยะ และเมื่อคุณสมุทัย คือเหตุที่จะให้ทราบถึงพระคุณของพระศาสดากำลังแผ่ไพศาลอยู่นั้นเอง ลาภสักการะและความนับถือเป็นอันมาก เกิดขึ้นแก่พระศาสดาและพระสาวก พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย เป็นเช่นกับแสงหิ่งห้อย ท่ามกลางแสงอาทิตย์ เสื่อมจากลาภสักการะเพราะไม่มีใครนับถือ หรือมีผู้นับถือน้อยลงมาก

    พวกเดียรถีย์ก็มายืนอยู่กลางถนนแล้วประกาศว่าพระโคดมเท่านั้นหรือที่เป็นพระพุทธเจ้า พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ทานที่ให้แก่พระสมณโคดมเท่านั้นหรือที่มีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ทานแก่พวกเราบ้าง

    เรียกว่าขอกันดื้อๆ เลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะกระทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นได้ จึงประชุมกันว่า พวกเราควรจะหาโทษใส่พระสมณโคดมสักอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งหลายหมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในพระสมณโคดม ลาภสักการะ ความนับถือจะได้เกิดขึ้นกับพวกเราดังเดิม เขาตกลงกันว่าจะใช้หญิงหนึ่งทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส

    กิเลสเป็นสิ่งน่ากลัว บรรดาศัตรูทั้งหลาย กิเลสเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของมนุษย์เรา เรื่องที่ยุ่งๆ กันอยู่ในสังคมมนุษย์ ก็มีกิเลสเป็นแดนเกิด คือต้นเหตุอยู่ที่กิเลส มันถึงทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากมากมายในสังคมมนุษย์ ในสังคมใดที่คนมีกิเลสน้อย เรื่องยุ่งยากก็มีน้อย แต่พอมีกิเลสมากขึ้น หรือว่าไม่สามารถดับมันได้ ระงับมันอยู่ มันก็สร้างปัญหาต่างๆ สร้างเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้น ใส่ร้ายผู้อื่นบ้าง กล่าวร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง มากมายเหลือที่จะคณานับ เพราะว่าดูเรื่องราวยิ่งดูก็ยิ่งสังเวชใจในพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์จึงทำกันได้ถึงขนาดนี้ ทำลายและทำร้ายกันได้ถึงขนาดนี้

    นี่ก็ทำนองเดียวกัน แรงริษยาที่เกิดขึ้นในใจของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย ก็ใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า และได้เครื่องมือคือหญิงคนหนึ่ง

    ในครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อจิญจมาณวิกา รูปสวยมาก ท่านกล่าวว่า สวยงามเหมือนเทพอัปสร แต่เราก็ไม่เคยเห็นเทพอัปสรหรือเทพธิดา ก็ไม่รู้ว่าสวยขนาดไหน ต้องถามท่านที่เคยเห็น ท่านว่ารัศมีออกจากกายของเธอ น่าดูน่าชม เป็นพวกเดียวกับเดียรถีย์

    วันหนึ่ง ขณะที่นางจิญจมาณวิกาปริพาชิกา ไปหาพวกเดียรถีย์ที่อาราม ทำความเคารพแล้วยืนอยู่ ที่เคยมานั้นเดียรถีย์ก็ย่อมแสดงอาการยินดีต้อนรับเมื่อนางมา แต่วันนั้นทุกคนเฉยไปหมด นางพูดว่า

    “พระคุณเจ้า ดิฉันไหว้” อย่างนี้ถึง 3 ครั้ง แต่พวกเดียรถีย์ก็ยังคงเฉยดังเดิม นางคิดว่าเธออาจมีความผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงถามว่า “ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ ดิฉันได้ทำอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจพระคุณเจ้าหรือ จึงพากันนิ่งไปหมด ไม่ยอมพูดกับดิฉัน”

    เดียรถีย์จึงกล่าวขึ้นว่า “เจ้าไม่ทราบดอกหรือว่าเวลานี้ลาภสักการะของเราเสื่อมหมดแล้วเพราะใคร เพราะพระสมณโคดมคนเดียว เจ้าไม่รู้สึกเจ็บร้อนแทนพวกเราบ้างเลยหรือ”

    จิญจมาณวิกาตอบว่า “ความทุกข์ของพระคุณเจ้าทั้งหลายก็เหมือนความทุกข์ของดิฉันเอง ไว้เป็นหน้าที่ของดิฉันเถิด จะจัดการให้เรียบร้อย ทำลาภสักการะให้เกิดแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดังเดิม”

    พูดอย่างนี้แล้วก็จากไป นางก็วางแผนว่าจะทำอย่างไร นางก็เริ่มแต่งกายอย่างดี ห่มผ้าสีสวยเหมือนสีปีกแมลงก้อนทอง ถ้าไม่ผิดก็เป็นสีเขียวและมีสีทองปนอยู่ ถือของหอมและดอกไม้มุ่งหน้าไปวัดเชตวัน ในเวลาที่ชาวเมืองสาวัตถีฟังธรรมแล้วก็กลับออกมา นางเดินสวนเข้าไป เมื่อมหาชนถามว่าจะไปไหนเวลานี้ นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านในการไปหรือการมาของข้าพเจ้า”

    อย่างนี้แล้วก็เดินผ่านวัดเชตวันไปพักวัดของพวกเดียรถีย์ ใกล้วัดเชตวันนั้นเอง ตอนเช้าเมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวนครสาวัตถีออกจากนครไปวัดเชตวัน เพื่อถวายบังคมพระศาสดา นางจิญจมาณวิกาทำทีเหมือนตนพักอยู่ในวัดเชตวันทั้งคืน ด้วยการเดินสวนออกมา

    Image

    เมื่อถูกถามว่า พักอยู่ที่ไหน นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านกับที่พักของข้าพเจ้า” นางทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 เดือน

    เมื่อคนทั้งหลายถามอีก จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าพักอยู่ในพระคันธกุฎีของพระสมณโคดม ในวัดเชตวันนั่นเอง”

    ชาวพุทธที่เป็นปุถุชนทั้งหลายสงสัยกันมากว่า ข้อความที่นางจิญจมาณวิกากล่าวนั้น เป็นความจริงหรือหนอ ส่วนพระอริยบุคคลไม่มีใครเชื่อเลย

    ล่วงไป 3-4 เดือน นางเอาผ้าพันท้องให้หนาขึ้นเพื่อแสดงว่ามีครรภ์ และให้คนทั้งหลายเข้าใจว่านางตั้งครรภ์เพราะร่วมอภิรมย์กับพระโคดมบรมศาสดาที่คันธกุฎีในวัดเชตวัน

    พอถึงเดือนที่ 8 ที่ 9 นางก็เอาไม้กลมๆ ผูกไว้ที่ท้อง เอาผ้าห่มทับไว้ ให้คนเอาไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น ให้มีอวัยวะต่างๆบอบช้ำ ล่อลวงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าตนมีครรภ์แก่จวนคลอดเต็มทีแล้ว

    เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทในธรรมสภา นางได้เข้าไปยืนตรงพระพักตร์พระตถาคตเจ้า แล้วก็กล่าวว่า

    “มหาสมณะ พระองค์ดีแต่แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น กระแสเสียงของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก พระโอษฐ์ของพระองค์ดูสนิทดี แต่พระองค์มิได้สนพระทัยในหม่อมฉันเลย หม่อมฉันซึ่งตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว ครรภ์นี้อาศัยพระองค์ตั้งขึ้น พระองค์ไม่เอาพระทัยใส่ต่อเครื่องบริหารครรภ์เลย แม้ไม่ทำเองก็ควรตรัสบอกสานุศิษย์คนใดคนหนึ่ง เช่น นางวิสาขา หรืออนาถบิณฑิกะ หรือพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ช่วยเหลือในการนี้ พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์อย่างเดียว แต่ไม่ทรงสนพระทัยในการคลอดของหม่อมฉันเลย”

    ความพยายามของนางเป็นเหมือนจับก้อนคูถขึ้นปาพระจันทร์ พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรมอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อนางพูดจบ พระองค์ก็ตรัสด้วยพระกระแสเสียงอันเรียบว่า

    “น้องหญิง เรื่องนี้เราทั้งสองคนเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”

    นางจิญจมาณวิกาโกรธมาก เต้นด่าพระตถาคตเจ้าจนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้กลมเกลี้ยงหล่นลงมาจากท้องของนาง

    Image

    อันนี้ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ ถ้าเล่าตามตำนานในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า เมื่อพระศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว ก็ร้อนถึงท้าวสักกะเทวราช เทวดามาช่วย ท้าวสักกะมาถึงด้วยเทพบุตร 4 องค์ เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่นางผูกไว้ จนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้ก็หล่นลงมา อรรถกถาท่านว่าอย่างนั้น
    มหาชนได้เห็นกับตาเช่นกัน ก็แช่งด่านางจิญจมาณวิกาว่าเป็นหญิงกาลกรรณี ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ก็พากันถ่มน้ำลายใส่บ้าง ขว้างด้วยก้อนดินและท่อนไม้ใส่บ้าง ฉุดกระชากออกไปจากวัดเชตวัน พอลับคลองพระเนตรของพระศาสดาไปเท่านั้น นางจิญจมาณวิกาก็ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีมหานรก

    Image

    วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา ถึงเรื่องที่นางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าแล้วถูกแผ่นดินสูบ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนนางจิญจมาณวิกานี้ ก็เคยหาเรื่องใส่ร้ายเราตถาคตแล้วเหมือนกัน และก็ถึงความพินาศเหมือนกัน ดังนี้แล้วตรัสใจความสำคัญในมหาปทุมชาดกว่า

    “ผู้เป็นใหญ่ ยังไม่เห็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นโดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่พิจารณาด้วยตนเองแล้ว ไม่พึงลงโทษหรืออาชญา”

    ความย่อในมหาปทุมชาดก จะนำมาเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง

    ครั้งนั้นนางจิญจมาณวิกา เป็นหญิงร่วมสามีกับพระมารดาของพระมหาปทุมกุมาร นางเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระราชา คือพระราชบิดาของพระมหาปทุมโพธิสัตว์

    นางมีจิตประดิพัทธ์ในมหาปทุมนั้น จึงเย้ายวนชวนเชิญให้ประกอบกามกิจกับนาง แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทรงยินยอมตาม ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร

    นางจึงแกล้งทำอาการว่าเป็นไข้ และมีอาการแห่งผู้ตั้งครรภ์ เมื่อพระราชาตรัสถามก็ใส่ความว่า มหาปทุมกุมารราชโอรสของพระองค์ ทำให้หม่อมฉันมีอาการอันแปลกนี้

    พระราชาทรงกริ้ว จึงให้ทิ้งพระโพธิสัตว์ลงในเหวที่ทิ้งโจร เทวดาที่สิงสถิตอยู่อุ้มพระโพธิสัตว์ไว้ ให้ประดิษฐานอยู่ที่พังพานนาคราช พระยานาคราชนำท่านไปสู่นาคพิภพ แบ่งราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง

    พระโพธิสัตว์อยู่ในนาคพิภพปีหนึ่ง อยากจะบวช จึงไปสู่หิมวันตประเทศ บวชได้ฌานและอภิญญา

    อันนี้ก็แสดงถึงว่า คนดีเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็จะมีผู้ช่วยเหลือ จะเป็นใครก็แล้วแต่ แล้วก็นำไปให้ได้รับความสุขพอสมควรแก่อัตภาพ แต่ท่านก็ไม่พอใจในสภาพเช่นนั้น ก็อยู่ไประยะหนึ่งแล้วก็มีความสังเวชสลดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อยากบวชแล้วไปบวชที่หิมวันตประเทศ ได้ฌานและอภิญญา

    ต่อมาพรานไพรผู้หนึ่งมาพบพระโพธิสัตว์เข้าจำได้ จึงกลับไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จมาเฝ้า ทรงทราบเรื่องความเป็นมาทั้งหมดแล้ว ทรงเชื้อเชิญให้ไปครองราชสมบัติ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ ขอร้องให้พระราชาทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อย่าได้มีอคติ

    พระราชาเสด็จกลับพระนคร ให้จับพระมเหสีผู้กลั่นแกล้งใส่ร้ายพระโพธิสัตว์นั้นไปทิ้งที่เหวทิ้งโจร แล้วครองแผ่นดินโดยธรรม

    อันนี้เรียกว่ากรรมสนอง ถึงเวลาที่กรรมที่ได้กระทำไว้มาสนอง แต่ว่าคนที่ไม่ดีก็ไม่มีใครช่วย ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมของตนไป

    พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า หญิงผู้นั้นในกาลนั้นมาเป็นนางจิญจมาณวิกา ส่วนพระมหาปทุมนั้นคือพระองค์เอง



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    ๑. หนังสือพุทธชัยมงคลคาถา โดย อาจารย์วศิน อินทสระ
    ๒. http://www.larnbuddhism.com/

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved