หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระอุรุเวลกัสสปเถระ

    Image

    พระอุรุเวลกัสสปเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้มีบริวารมาก



    พระอุรุเวลกัสสปเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรกๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยเป็นพระสงฆ์องค์ที่ ๙๑ ของโลก โดยได้รับการบวชเป็นกลุ่มที่ ๖ จากพระบรมศาสดา นับจาก

    ๑. กลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์
    ๒. พระยสสเถระ ๑ องค์
    ๓. กลุ่มเพื่อนพระยสเถระ ๔ องค์
    ๔. กลุ่มเพื่อนพระยสเถระอีก ๕๐ องค์ และ
    ๕. กลุ่มภัททวัคคีย์ ๓๐ องค์

    อันที่จริงกลุ่มของพระอุรุเวลกัสสป มีทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ องค์ ทั้งหมดได้รับการบรรพชาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากพระบรมศาสดาพร้อมกันทั้ง ๑,๐๐๐ รูป แต่โดยที่ พระอุรุเวลกัสสปเป็นหัวหน้าของกลุ่มนี้ ในที่นี้จึงนับท่านเป็นผู้รับการบวชเป็นคนแรกของกลุ่ม

    ในพระบาลีปรากฏพระเถระที่มีนามว่า “กัสสปะ” อยู่หลายองค์ จึงต้องมีการกำหนดชื่อให้แตกต่างกัน คือ

    ๑. พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ มีอาวุโสมาก จึงเรียกกันว่า มหากัสสปะ

    ๒. พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ

    ๓. พระนทีกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คุ้งมหาคงคานที จึงได้ชื่อว่า นทีกัสสปะ

    ๔. พระคยากัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คยาสีสประเทศ จึงได้ชื่อว่า คยากัสสปะ

    ๕. พระกุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชตั้งแต่เวลาที่เป็นเด็ก จึงได้ชื่อว่า กุมารกัสสปะ

    พระอุรุเวลกัสสปเถระนี้ พระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีบริวารมาก การที่ ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่เป็นเลิศเช่นนั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

    โดยพระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาไว้ว่า จริงอยู่ พระเถระอื่นๆ บางกาล ก็มีปริวารมาก บางกาลก็มีปริวารน้อย ส่วนพระเถระนี้กับน้องชายทั้งสอง มีปริวารประจำ เป็นสมณะถึงหนึ่งพันรูป บรรดาภิกษุชฎิลหนึ่งพันรูปนั้น เมื่อแต่ละรูปให้บรรพชาครั้งละรูป ก็จะเป็นสมณะสองพันรูป เมื่อให้บรรพชาครั้งละสองรูป ก็จะเป็นสมณะสามพันรูป เพราะฉะนั้น ท่านอุรุเวลกัสสป จึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริวารมาก

    และ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้อีกด้วย


    ๐ ความปรารถนาในอดีต
    กระทำมหาทานแด่พระปทุมุตตระพุทธเจ้า


    ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ แม้ท่านอุรุเวลกัสสปนี้ ก็ถือปฏิสนธิในเรือนสกุล ณ กรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว ฟังธรรมกถา ของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัทมาก คิดว่าแม้เราก็ควร จะเป็นเช่นภิกษุรูปนี้ในอนาคตกาล จึงถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน ให้ครองไตรจีวร ถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้กระทำความปรารถนา ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่า ภิกษุสาวกผู้มีบริษัท พระศาสดาทรงเห็นไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ ว่า เขาจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัทมาก ในศาสนาของ พระโคดมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล แล้วเสด็จกลับไป กุลบุตรแม้นั้น กระทำกัลยาณกรรมตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์


    ๐ บุรพกรรมในสมัยพระปุสสพุทธเจ้า

    สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่า ปุสสะ จุติมาบังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ามหินทรราชา (อรรถกถาบางแห่งกล่าวว่าชื่อ ชยเสนะ) กรุงกาสี พระราชมารดาทรงพระนามว่า สิริมา ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมแก่ สุรักขิตะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ และบุตรปุโรหิต ชื่อ ธรรมเสนะ ทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พระศาสดาทรงสถาปนาพระสุรักขิตะถระไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระธรรมเสนะเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒

    ในที่สุดกัปที่ ๙๒ ท่านอุรุเวลกัสสปก็บังเกิดเป็นกนิษฐภาดา (น้องชาย) ต่างมารดา ท่านยังมีน้องชายอีก ๒ องค์ (ซึ่งต่อมาก็คือ พระนทีกัสสป และ พระคยากัสสป) ฝ่ายพระเจ้ามหินทรราชา มีพระดำริว่า ลูกชายคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า ลูกคนเล็กเป็นอัครสาวก ลูกปุโรหิตเป็นทุติยสาวก พระองค์จึงทรงให้สร้างวิหาร ทรงดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ และทรงปรารถนาจะอุปัฏฐากพระบรมศาสดา ผู้เป็นพระโอรส พร้อมหมู่พระภิกษุแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ชนทั้งหลายได้มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง จึงให้สร้างรั้วไม้ไผ่สองข้าง ปิดล้อมด้วยผ้า ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระราชวัง เบื้องบนรับสั่งให้ผูกพวงของหอมพวงมาลัยที่หอมฟุ้งเป็นเพดาน เสมือนประดับด้วยดาวทอง เบื้องล่างรับสั่งให้เกลี่ยทรายสีเหมือนเงินแล้ว โปรยดอกไม้ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามทางนั้น แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร เพื่อกระทำภัตกิจ แล้วเสด็จกลับมายังวิหาร โดยทางเดิม มหาชนอื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ดู แล้วไฉนจะได้ถวายภักษาหารและการบูชาเล่า.ทรงกระทำเช่นนี้มาตลอด ๗ ปี ๗ เดือน

    ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว ถึงวันนี้ พวกเราแม้เพียงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่จะได้ถวายภิกษา หรือกระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นของพระองค์เองผู้เดียว ที่ถูกแล้ว พระศาสดาเมื่อเสด็จอุบัติ ก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย มิใช่อุบัติเพื่อประโยชน์เฉพาะแก่พระราชาเท่านั้นไม่

    ชาวพระนครร่วมปรึกษากับพระโอรสทั้ง ๓ องค์ว่าพวกเราจะทำอุบายอย่างหนึ่ง โดยให้ชาวพระนครเหล่านั้นแต่งโจรชายแดนขึ้น แล้วส่งข่าวกราบทูลพพระเจ้ามหินทรราชาว่า หมู่บ้าน ๒ - ๓ แห่งที่อยู่ชายแดนเกิดโจรปล้น พระเจ้ามหินทรราชาจึงมีรับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้ง ๓ เข้าเฝ้าแล้วรับสั่งให้พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปโจร พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปจัดการให้โจรสงบแล้วกลับมากราบทูลพระเจ้ามหินทรราชา

    พระราชาทรงพอพระทัย ตรัสว่าและสัญญาว่าจะพระราชทานพรข้อหนึ่งให้กับพระโอรสทั้งสาม พระโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปปรึกษากับชาวพระนครถึงเรื่องพรที่ได้รับพระราชทานมาว่า พวกเราจะเอาอะไร ชาวพระนครกล่าวว่า ทรัพย์สินเงินทองช้างม้าเป็นต้นหาได้ไม่ยาก แต่พระพุทธรัตนะหาได้ยาก ไม่เกิดขึ้นทุกกาล เราขอให้พระเจ้ามหินทรราชาทรงยอมให้ชาวพระนครได้มีโอกาสกระทำบุญแด่ พระปุสสพุทธเจ้าบ้าง พระโอรสเหล่านั้นจึงนำความนั้นขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระราชา

    พระราชาเมื่อกลับคำพูดไม่ได้จึงตรัสต่อรองว่า ขอเวลาให้ท่านได้ทำบุญกับพระศาสดากับหมู่พระสงฆ์อีก ๗ ปี ๗ เดือน ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ฯลฯ เพียงเดือนเดียว พระโอรสก็ไม่ยินยอม สุดท้ายจึงขออีก ๗ วัน พระโอรสก็ยินยอม

    พระราชาทรงนำสิ่งที่เตรียมไว้ถวายพระพุทธองค์และหมู่ภิกษุ สำหรับระยะเวลา ๗ ปี ๗ เดือน มารวมกันเพื่อถวายใน ๗ วันเท่านั้น แล้วพระราชาถวายบังคม กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครได้ถวายทานแล้ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด

    พระราชโอรสเหล่านั้นกับชาวพระนครจึงสร้างพระวิหารมอบถวายแด่พระศาสดา ปรนนิบัติพระศาสดาในที่นั้น เมื่อจวนเข้าพรรษา พระราชโอรสเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเราจะปรนนิบัติพระศาสดาให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไรหนอ

    ครั้นแล้วจึงได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม ไม่หนักในอามิส หากพวกเราตั้งอยู่ในศีลแล้วจักเป็นที่พอพระทัยของพระศาสดาได้ ราชกุมารเหล่านั้นจึงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้หารายได้เพื่อใช้ในการถวายทาน แต่งตั้งอำมาตย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้รับจ่ายในการถวายทาน และแต่งตั้งอำมาตย์อีกผู้หนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อตัดกังวลในการถวายทานของพระโอรสทั้งสาม

    ครั้นแล้ว ราชกุมารทั้งสาม พร้อมทั้งบริวาร ๑,๐๐๐ คน ออกบวชโดยสมาทานศีล ๑๐ ครองผ้ากาสายะ ๒ ผืน บริโภคน้ำที่สมควร ครองชีพอยู่ เขาบำรุงพระศาสดาตลอดชีวิต พระศาสดาทรงเสด็จปรินิพพานในสำนักของเขาเหล่านั้นเอง

    ราชโอรสเหล่านั้นเมื่อทิวงคตแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

    Image

    ๐ กำเนิดในพุทธกาล

    ครั้นในสมัยพระศาสดาของพวกเรา จึงได้จุติจากเทวโลกบังเกิดในมนุษยโลก เป็นชฏิล ๓ พี่น้องตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป อำมาตย์ทั้งสามคนนั้น บังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร วิสาขอุบาสก และ พระรัฐปาละ ส่วนชาวพระนครผู้เป็นบริวารของราชโอรสเหล่านั้นเกิดเป็นชฎิลบริวารของคนทั้ง ๓ นั้น

    ท่านมาบังเกิดในสกุลพราหมณ์ ก่อนพระทศพลของเราทรงอุบัติ มีนามว่า กัสสป ทั้งสามคนตามโคตรของตน คนทั้งสามนั้นเจริญวัย แล้วเรียนไตรเพท คนใหญ่ มีบริวารมาณพ ๕๐๐ คน คนกลาง ๓๐๐ คน คนเล็ก ๒๐๐ คน ทั้งสามพี่น้อง ตรวจดูสาระในคัมภีร์ (ไตรเพท) เห็น แต่ประโยชน์ส่วนปัจจุบันเท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ส่วนภายภาคหน้า พี่ชายคนใหญ่ ไปยังตำบลอุรุเวลาบวชเป็นฤษีพร้อมกับบริวารของตน ชื่อว่าอุรุเวลกัสสป คนกลางไปบวชที่คุ้งมหาคงคานที ชื่อว่านทีกัสสป คนเล็กไปบวชที่คยาสีสประเทศ ชื่อว่าคยากัสสป

    เมื่อพี่น้องทั้ง ๓ นั้นบวชเป็นฤๅษี อยู่ในที่นั้นๆ อย่างนี้แล้ว เมื่อวันเวลาล่วงไปเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ ได้ทรงตรัสรู้แล้วและแสดงธรรมโปรดพวกปัญจวัคคีย์ทั้ ๕ แล้วโปรดพระยสะ และสหาย รวม ๕๕ คนให้บรรลุพระอรหัต แล้วทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์จาริกไปเพื่อโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากนั้นเมื่อทรงเทศน์โปรดพวกภัททวัคคียกุมาร แล้ว จึงได้เสด็จ ไปยังตำบลอุรุเวลาเสนนิคม เสด็จไปยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปชฎิล

    ครั้งเสด็จถึงอุรุเวลาประเทศแล้ว ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายประการ ทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล


    ๐ พระอุรุเวลกัสสปเถระ
    ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายประการ



    ทรงแสดงปาฏิหาริย์ครั้งแรก ทรมานพญานาคราช

    ครั้นไปถึงแล้วจึงได้ตรัสกับอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า

    “กัสสปะ ถ้าท่านไม่มีความหนักใจแล้วไซร้ เราจะขอพักอาศัยอยู่ที่โรงบูชาไฟนี้ สักราตรีหนึ่งเถิด”

    อุรุเวลกัสสปะ กล่าวว่า “มหาสมณะ เราไม่มีความหนักใจ อะไรเลย แต่ว่า นาคราชดุร้าย มีพิษร้ายแรง มีฤทธิ์มาก อาศัยอยู่ในโรงบูชาไฟนั้น อย่าให้เขาอย่าเบียดเบียนท่านเลย”

    พระพุทธองค์ตรัสขออาศัยอยู่ในโรงบูชาไฟกับ อุรุเวลกัสสปชฏิลนั้นถึง ๓ ครั้ง จนครั้งที่ ๓ อุรุเวลกัสสปะจึงได้ยินยอม

    ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้เสด็จ เข้าไปยังโรงบูชาไฟ ทรงปูลาดอาสนะหญ้า ประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง

    ฝ่ายพญานาคราชนั้น เมื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามายังที่อยู่ของตนก็บังเกิดความเดือดดาลใจ จึงบันดาลให้เกิดควันพลุ่งขึ้น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระดำริว่า เราพึงทรมานพญานาคนี้ด้วยเดชของเรา จากนั้นจึงได้ทรงบันดาลให้เกิดควันพลุ่งขึ้นเช่นกันเพื่อต่อสู้ ฝ่ายพญานาคเห็นอีกฝ่ายหนึ่งลบหลู่อำนาจของตนด้วยการแสดงควันขึ้นต่อสู้ เช่นนั้นก็โกรธยิ่งนักจึงได้บันดาลให้เกิดเป็นเปลวเพลิงร้อนแรงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็ได้ทรงเข้าเตโชกสิณ บันดาลให้เกิดเพลิงขึ้นเช่นกัน

    ภายในโรงบูชาไฟนั้นจึงมีกองไฟ ๒ กอง ลุกโพลงรุ่งโรจน์โชติช่วง ดุจแสงพระอาทิตย์สว่างไสวไปทั่ว เหล่าชฎิลที่อยู่ภายนอกพากันมุงดูอยู่รอบโรงบูชาไฟ แล้วพูดกันว่า พระมหาสมณะผู้มีพระรูปอันงดงาม คงจะถูกพญานาคราชรุกรานอยู่เป็นแน่ ครั้นเวลาค่อยๆ ผ่านไป กลุ่มเพลิงที่เกิดจากฤทธิ์ของพญานาคก็อ่อนแสงลงเป็นลำดับจนกระทั่งดับไป ในขณะที่เปลวไฟสีต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงฤทธิ์ยังสถิตอยู่ ปรากฎเป็นพระรัศมีสีต่างๆ คือสีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระวรกายของพระบรมศาสดา เมื่อราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสยบเดชของพญานาคาราชนั้นไว้แล้ว ทรงให้พญานาคขดลงในบาตร แล้วทรงแสดงให้ อุรุเวลกัสสปชฎิลได้เห็นประจักษ์แล้ว ตรัสว่า

    “กัสสปะ นาคราชของท่านนี้ ได้ทำให้หมดฤทธิ์แล้ว”

    อุรุเวลกัสสปชฎิลเห็นดังนั้นจึงคิดว่า “พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากนักหนา จึงสามารถสยบนาคราชนี้ได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนที่เราเป็น”

    อย่างไรก็ตาม อุรุเวลกัสสปชฎิล ก็บังเกิดความเลื่อมใสยิ่งนักในในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่ พระมหาสมณะ ขอพระองค์จงประทับอยู่ในที่นี้เท่านั้นเถิด ข้าพเจ้า จักถวายภัตรเป็นประจำแก่พระองค์”


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ เข้าเฝ้า

    ในเวลาต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากอาศรมของอุระเวลกัสสปชฎิลนัก เมื่อเวลาหลังยามต้นผ่านไป ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ ซึ่งมีรัศมีงดงามยิ่งนัก รัศมีของท่านทำให้ราวป่าโดยรอบสว่างไสวไปทั่ว ได้เสด็จมาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยืนอยู่ทั้ง ๔ ทิศ สว่างไสวเหมือนกองไฟใหญ่

    ครั้นรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร แล้วทูลถามว่า “เมื่อหลังยามต้นนั้น ใครหนอ มีรัศมีงดงามยิ่งนักมาเฝ้าพระองค์” พระศาสดาตรัสบอกว่าท่านเหล่านั้นคือท้าวมหาราช ทั้ง ๔ เข้ามาหาเราก็เพื่อฟังธรรม

    อุรุเวลกัสสปชฎิลได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า “พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ซึ่งท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม ถึงอย่างไร ก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วประทับ อยู่ในราวป่านั้นนั่นแล


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๓ ท้าวเทวราชเข้าเฝ้า

    ในวันต่อมา เมื่อพ้นยามต้นแห่งคืนนั้นไปแล้ว ท้าวสักกะเทวานมินทะ ที่มีรัศมีงดงามยิ่งนัก ทำให้ราวป่าทั้งสิ้นสว่างไสว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับยืน ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ มีรัศมีมากกว่า และประณีตกว่ารัศมีสีแสงของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่มาเฝ้าเมื่อคืนก่อน

    ครั้นรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร แล้วทูลถามว่า “เมื่อหลังยามต้นนั้น ใครหนอ มีรัศมีงดงามยิ่งนักมาเฝ้าพระองค์ รัศมีสว่างยิ่งกว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่มาเฝ้าเมื่อคืนก่อน” พระศาสดาตรัสบอกว่าท่านเหล่านั้นคือท้าวสักกะทวานมินทะ เข้ามาหาเราก็เพื่อฟังธรรม

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แม้ท้าวสักกะทวานมินทะ ก็ยังเข้ามาเฝ้าเพื่อฟังธรรม แต่ถึงอย่างไร มหาสมณนี้ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วประทับ อยู่ในราวป่านั้นนั่นแล


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๔ ท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้า

    ในวันต่อมา เมื่อพ้นยามต้นแห่งคืนนั้นไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม ที่มีรัศมีงดงามยิ่งนัก ทำให้ราวป่าทั้งสิ้นสว่างไสว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับยืน ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ มีรัศมีมากกว่า และประณีตกว่ารัศมีสีแสงของท้าวสักกะทวานมินทะ ที่มาเฝ้าเมื่อคืนก่อน

    ครั้นรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร แล้วทูลถามว่า “เมื่อหลังยามต้นนั้น ใครหนอ มีรัศมีงดงามยิ่งนักมาเฝ้าพระองค์ รัศมีสว่างยิ่งกว่าท้าวสักกะทวานมินทะ ที่มาเฝ้าเมื่อคืนก่อน” พระศาสดาตรัสบอกว่าท่านเหล่านั้นคือท้าวสหัมบดีพรหม เข้ามาหาเราก็เพื่อฟังธรรม

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แม้ท้าวสหัมบดีพรหม ก็ยังเข้ามาเฝ้าเพื่อฟังธรรม แต่ถึงอย่างไร มหาสมณนี้ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วประทับ อยู่ในราวป่านั้นนั่นแล


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๕ ทรงอ่านใจอุรุเวลกัสสปชฎิล

    ในวันต่อมา เป็นวันที่ชาวแคว้นอังคะและมคธะจำนวนมาก ตั้งใจถือเอาเครื่องบูชาเป็นอันมาก มุ่งหน้ามายังอาศรมของอุรุเวลกัสสปชฎิลเพื่อกระทำมหายัญ ในการนั้นอุรุเวลกัสสปชฎิล ได้มีความคิดว่า

    “บัดนี้มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธะทั้งสิ้น มาสู่อาศรมเราเพื่อกระทำมหายัญ มหาชนเหล่านั้นจักถือเอาเครื่องบูชาเป็นอันมากมาสู่เรา ถ้าว่า พระมหาสมณะ ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงต่อหมู่มหาชนเหล่านั้น มหาชนจักมอบลาภและสักการะแก่พระมหาสมณะ ลาภและสักการะ ของเราจักเสื่อมสิ้นไป โอ ทำไฉน พระมหาสมณะจะไม่มาในวันพรุ่งนี้หนอ”

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงทราบถึงความปริวิตกทางใจ ของอุรุเวลกัสสปชฎิลด้วยพระญาณแล้ว จึงเสด็จไปยังอุตตรกุรุ ทรงบิณฑบาตภัตตาหารจากที่นั้นแล้ว แล้วจึงเสวยใกล้สระอโนดาต จากนั้นจึงได้ทรงพักผ่อนอยู่ในที่นั้นนั่น

    ครั้นรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร แล้วทูลถามว่า

    “ข้าแต่พระมหาสมณะ เพราะเหตุไรหนอ เมื่อวานนี้พระองค์จึงไม่เสด็จมา พวกเราได้แบ่งภัตไว้สำหรับพระองค์แล้ว”

    พระศาสดาตรัสว่า

    “กัสสป เธอได้มีความคิดอย่างนี้มิใช่หรือว่า ‘ บัดนี้มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธะทั้งสิ้น มาสู่อาศรมเราเพื่อกระทำมหายัญ มหาชนเหล่านั้นจักถือเอาเครื่องบูชาเป็นอันมากมาสู่เรา ถ้าว่า พระมหาสมณะ ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงต่อหมู่มหาชนเหล่านั้น มหาชนจักมอบลาภและสักการะแก่พระมหาสมณะ ลาภและสักการะ ของเราจักเสื่อมสิ้นไป โอ ทำไฉน พระมหาสมณะจะไม่มาในวันพรุ่งนี้หนอ’ ดังนี้ ดูก่อนกัสสป เรานั้นแล ได้ทราบความปริวิตก ทางใจของท่านด้วยใจ จึงไปยังอุตตรกุรุ นำเอาบิณฑบาตมาจากที่นั้นแล้วฉันใกล้สระอโนดาต ได้ทำการพักผ่อนในที่นั้นนั่นเอง”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จึงจักทราบชัดถึงความคิดของเราเช่นนี้ แต่ถึงอย่างไร มหาสมณนี้ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วประทับ อยู่ในราวป่านั้นนั่นแล


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๖ เรื่องผ้าบังสุกุล

    ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงได้รับผ้าบังสุกุลมาผืนหนึ่ง ทรงพระดำริว่าเราจะพึงซักผ้าบังสุกุล ในที่ไหนหนอ ท้าวสักกะเทวานมินทะ ได้ทรงทราบถึง ความปริวิตกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงเนรมิตสระโบกขรณีขึ้นสระหนึ่งในที่นั้นเอง ครั้นแล้วเสร็จแล้ว ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงซักผ้าบังสุกุลในสระโบกขรณีนี้เถิด

    จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระดำริว่า เราพึงขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ ท้าวสักกะเทวานมินทะ ได้ทรงทราบความ ปริวิตกแห่งใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจแล้ว จึงทรงยกแผ่นศิลาใหญ่ มาวางไว้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจง ขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่แผ่นศิลานี้เถิด

    จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ ทรงมีพระดำริว่า เราจะพึงห้อยตากผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอ เทพยดาผู้สิงสถิตอยู่ ณ ที่ต้นไม้กุ่ม ได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงน้อมเอากิ่งไม้ลงมาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงตากผ้าบังสุกุลไว้ที่กิ่งไม้นี้เถิด

    จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระดำริว่า เราพึงเปลี่ยนผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอ ท้าวสักกะเทวานมินทะ ได้ทรงทราบความ ปริวิตกแห่งใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้ยกเอาแผ่นศิลาใหญ่ มาวางไว้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง เปลี่ยนผ้าบังสุกุล ณ ที่นี้เถิด

    ครั้นรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร แล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ เพราะเหตุไร เมื่อวานนี้ สระโบกขรณีนี้ไม่มีในที่นี้ วันนี้จึงมีขึ้นมาได้ ก้อนศิลานี้แต่ก่อนไม่มีวางไว้ ใครยกเอาก้อนศิลานี้มาวางไว้ กิ่งแห่งต้นกุ่มนี้ ในกาลก่อนมิได้น้อมลง บัดนี้มีกิ่งไม้น้อมลงแล้ว”

    พระศาสดาตรัสว่า

    “ดูก่อนกัสสป เราได้ผ้าบังสุกุลมา เราได้มีความดำรินี้ว่า เราจะพึงซักผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอ เราจะพึงขยำผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอ เราจะพึงตากผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอ เราจะพึงเปลี่ยนผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ

    กัสสป ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะ ได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของเราแล้ว จึงเนรมิตสระโบกขรณีให้เราซักผ้าบังสุกุล เอาแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้ให้เราขยำผ้าบังสุกุล เทพยดาผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่ม ได้น้อมเอากิ่งไม้ลงมาให้เราตากผ้าบังสุกุลแล้ว ท้าวสักกะเทวานมินทะได้ ยกเอาแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้ให้เรา

    ดูก่อนกัสสป สิ่งเหล่านี้ เทวดามิใช่มนุษย์ได้กระทำให้แก่เรา”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ซึ่งแม้ท้าวสักกะเทวานมินทะก็ยังมาทำการช่วยเหลือถึงที่ ถึงอย่างไร มหาสมณนี้ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วประทับ อยู่ในราวป่านั้นนั่นแล


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๗ เรื่องผลหว้าจากป่าหิมพานต์

    เช้าวันหนึ่ง อุรุเวลกัสสปชฎิล เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนกัสสป เธอไปก่อนเถอะ แล้วเราจะตามไป” ครั้นเมื่อทรงเสด็จส่งท่านอุรุเวลกัสสปชฎิล ไปแล้ว พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงฤทธิ์ เสด็จไปยังชมพูทวีป ทรงนำเอาผลหว้าจากต้นมาแล้วเสด็จกลับมาประทับ นั่ง ณ ที่โรงบูชาไฟ ก่อนที่อุรุเวลกัสสปชฎิลจะมาถึง ครั้นเมื่ออุรุเวลกัสสปชฎิลมาถึงโรงบูชาไฟ พอได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่โรงไฟจึงกราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระสมณะ พระองค์เสด็จมาโดยหนทางไหน พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาก่อนพระองค์ แต่ทำไมพระองค์จึงมาถึงก่อน”

    พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนกัสสป หลังจากที่เราส่ง เธอ ณ ที่นั้นแล้ว ได้ไปยังชมพูทวีป เอาผลหว้าจากต้น แล้วมานั่ง ณ โรงบูชาไฟนี้ ดูก่อนกัสสป ผลหว้านี้ สีก็งาม กลิ่นก็หอม รสชาติก็ดี ถ้าเธอต้องการ ก็จงนำไปบริโภคเถิด”

    อุระเวลกัสสปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ พระองค์เท่านั้น จึงสมควรแก่ผลไม้นั้น ขอพระองค์จงบริโภคผลไม้นั้นเถิด”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแล ทรงส่งเราให้ไปก่อน แล้วเสด็จไปยังชมพูทวีปเก็บลูกหว้ามาแล้ว แล้วยังกลับมาถึง ณ โรงบูชาไฟก่อนเรา แต่ถึงอย่างไรก็ มหาสมณนี้ก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๘ เรื่องดอกปาริฉัตตกะจากดาวดึงส์

    เช้าวันหนึ่ง อุรุเวลกัสสปชฎิล เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงรับภัตร พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนกัสสป เธอไปก่อนเถอะ แล้วเราจะตามไป” ครั้นเมื่อทรงเสด็จส่งท่านอุรุเวลกัสสปชฎิล ไปแล้ว พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงฤทธิ์ เสด็จไปยังดาวดึงส์ทรงนำเอา ดอกปาริฉัตตกะมาแล้วเสด็จกลับมาประทับ นั่ง ณ ที่โรงบูชาไฟ ก่อนที่อุรุเวลกัสสปชฎิลจะมาถึง ครั้นเมื่ออุรุเวลกัสสปชฎิลมาถึงโรงบูชาไฟ พอได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่โรงไฟจึงกราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระสมณะ พระองค์เสด็จมาโดยหนทางไหน พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาก่อนพระองค์ แต่ทำไมพระองค์จึงมาถึงก่อน”

    พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนกัสสป หลังจากที่เราส่ง เธอ ณ ที่นั้นแล้ว ได้ไปยังดาวดึงส์แล้วนำเอา ดอกปาริฉัตตกะ แล้วมานั่ง ณ โรงบูชาไฟนี้ ดูก่อนกัสสป ดอกปาริฉัตตกะนี้ สีก็งาม กลิ่นก็หอม ถ้าเธอต้องการ ก็จงนำไปเถิด”

    อุระเวลกัสสปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ พระองค์เท่านั้น จึงสมควรแก่ดอกไม้นั้น ขอพระองค์จงถือเอาดอกไม้นั้นเถิด”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแล ทรงส่งเราให้ไปก่อน แล้วเสด็จไปยังดาวดึงส์แล้วนำเอา ดอกปาริฉัตตกะ แล้วยังกลับมาถึง ณ โรงบูชาไฟก่อนเรา แต่ถึงอย่างไรก็ มหาสมณนี้ก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๙ เรื่องผ่าฟืน

    ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้น มีความประสงค์เพื่อจะทำการบูชาไฟ แต่ไม่สามารถที่จะผ่าฟืนได้ พวกชฎิลเหล่านั้นจึงคิดว่า ต้องเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะเป็นแน่ อย่างมิต้องสงสัย พวกเราจึงไม่อาจจะผ่าฟืนได้

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจะผ่าฟืน”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า “ดูก่อนกัสสป พวกของเธอจงผ่าฟืนเถิด”

    พวกชฎิลจึงผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนนั้นได้ด้วยการผ่าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลจึงคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนัก ทรงบันดาลให้พวกเราผ่าฟืนทั้งหลายได้ แต่ถึงอย่างไรก็คงจะไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราเป็น แน่


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๐ เรื่องก่อไฟ

    ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้น มีความประสงค์เพื่อจะทำการบูชาไฟ แต่ไม่สามารถที่จะก่อไฟได้ พวกชฎิลเหล่านั้นจึงคิดว่า ต้องเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะเป็นแน่ อย่างมิต้องสงสัย พวกเราจึงไม่อาจจะก่อไฟได้

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจะก่อไฟ”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า “ดูก่อนกัสสป พวกของเธอจงก่อไฟเถิด”

    พวกชฎิลจึงก่อไฟ ๕๐๐ ท่อนนั้นได้ด้วยการจุดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลจึงคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนัก ทรงบันดาลให้พวกเราก่อไฟทั้งหลายได้ แต่ถึงอย่างไรก็คงจะไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราเป็น แน่


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๑ เรื่องดับไฟ

    ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้น มีความประสงค์เพื่อจะทำการบูชาไฟ แต่ไม่สามารถที่จะดับไฟได้ พวกชฎิลเหล่านั้นจึงคิดว่า ต้องเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะเป็นแน่ อย่างมิต้องสงสัย พวกเราจึงไม่อาจจะดับไฟได้

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจะดับไฟ”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า “ดูก่อนกัสสป พวกของเธอจงดับไฟเถิด”

    พวกชฎิลจึงดับไฟ ๕๐๐ ท่อนนั้นได้ด้วยการดับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลจึงคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนัก ทรงบันดาลให้พวกเราดับไฟทั้งหลายได้ แต่ถึงอย่างไรก็คงจะไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราเป็น แน่


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๒ เรื่องผิงไฟ

    ก็โดยสมัยนั้นแล ในสมัยที่มีหิมะตก ในราตรีที่เย็นหนาว ในวันที่หนาวที่สุด ๘ วันในฤดูหิมะตก พวกชฎิลเหล่านั้น ต่างก็พากันอาบน้ำโผล่ขึ้นบ้าง ดำลงบ้างในแม่น้ำเนรัญชรา

    ลำดับ นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงเนรมิตเชิงกรานก่อไฟขึ้นประมาณ ๕๐๐ ที่ พวกชฎิลเหล่านั้นต่างก็พากันไปผิงไฟ ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นจึงคิดว่า คงจะเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะเป็นแน่มิต้องสงสัย จึงเกิดมีการเนรมิตเชิงกรานก่อไฟขึ้น

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล ได้ มีความคิดนี้ว่า พระมหาสมณะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากนักแล ทรงเนรมิตเขิงกรานก่อไฟขึ้นมาก ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่


    ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๓ เรื่องน้ำท่วม

    ก็โดยสมัยนั้นแล ได้บังเกิดฝนตกใหญ่นอกฤดูกาล น้ำได้เกิดท่วมขึ้นมาก

    โดยธรรมดาเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในประเทศถิ่นที่ใดประเทศ ถิ่นที่นั้นก็ไม่มีน้ำท่วม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริ ว่า ไฉนไหนเราจะพึงยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบได้ ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบันดาลน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ เสด็จจงกรม ณ บริเวณตรงกลางที่เป็นพื้นแห้ง มีฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้น

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลคิดว่า พระมหาสมณะอย่าได้ถูกน้ำท่วมทับพัดพาไปเลย จึงได้ไปพายเรือไปยังที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับพวกชฎิลผู้เป็นบริวารมากมาย

    อุรุเวลกัสสปชฎิลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจงกรม ณ บริเวณตรงกลางที่เป็นพื้นแห้ง มีฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้น และมีน้ำเป็นขอบสูงขึ้นโดยรอบ ครั้นได้เห็นแล้ว จึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่ พระมหาสมณะ นี่พระองค์หรือ ? “

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนกัสสป เราเอง” แล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่เวหาส ได้เสด็จขึ้นไปพร้อมกับเรือ

    ลำดับ นั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล ได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนักแล ซึ่งแม้กระทั่งน้ำก็ยังไม่พัดพาไปได้ ถึงอย่างไร ก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

    Image

    ๐ อุรุเวลกัสสปชฎิลละพยศ ทูลขอบรรพชา

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระดำริว่า

    “เป็นเวลานานมากแล้ว ที่โมฆบุรุษผู้นี้คิดว่า พระองค์ทรงมีฤทธิ์มาก พระองค์ทรงมีอานุภาพมาก แต่ถึงอย่างไรพระองค์ทรงก็คงไม่เป็นพระอรหันต์ เช่นกับเราแน่ดังนี้ ถ้ากระไร เราพึงทำชฎิลนี้ให้เกิดความสังเวช”

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า

    “ดูก่อนกัสสป เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังไม่ได้เข้าถึงแม้อรหัตมรรคด้วย แม้ปฏิทาใดที่จักนำเธอเข้าถึงอรหัตมรรค ปฏิปทานั้นของเธอก็ยังไม่มีเลย”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล ได้ซบศีรษะลงที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

    พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนกัสสป เธอนั้นเป็นประมุข ของพวกชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาพวกชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน พวกชฎิลเหล่านั้นจะได้ทำตามที่เธอสำคัญเข้าใจได้”

    ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปหาพวกชฎิลเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับชฎิลเหล่านั้นว่า

    “ท่านทั้งหลาย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตามที่ท่านประสงค์เถิด”

    พวกชฎิลกล่าวว่า “พวกเราได้มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระมหาสมณะ ตั้งแต่นานมาแล้ว ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะแล้ว พวกเราทั้งหมดทำตามด้วยเหมือนกัน”

    ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า

    “พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”


    ๐ นทีกัสสปชฎิลทูลขอบรรพชา

    ฝ่ายนทีกัสสปชฎิล ได้เห็นแล้วบริขารรวมทั้งเครื่องบูชา ไฟ ลอยมาตามน้ำ ครั้นเห็นดังนั้นจึงคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พี่ชายของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบเรื่องพี่ชายของตน เมื่อทราบเรื่องแล้ว ตนเองพร้อมกับชฎิล ๓๐๐ คน ได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงถามท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า “พี่กัสสป การบวชนี้ เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ”

    ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า “ใช่ การบวชแบบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐแน่”

    ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างเถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า

    “พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”


    ๐ คยากัสสปชฎิลทูลขอบรรพชา

    ฝ่ายคยากัสสปชฎิล ได้เห็นแล้วบริขารรวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลอยมาตามน้ำ ครั้นเห็นดังนั้นจึงคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พี่ชายทั้งสองของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบเรื่องพี่ชายของตน เมื่อทราบเรื่องแล้ว ตนเองพร้อมกับชฎิล ๒๐๐ คน ได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงถามท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า “พี่กัสสป การบวชนี้ เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ”

    ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า “ใช่ การบวชแบบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐแน่”

    ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างเถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า

    “พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจง ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”


    ๐ ชฎิลทั้ง ๑,๐๐๐ บรรลุพระอรหัต

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในอุรุเวลาตามความพอพระทัย พร้อมกับภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ร่วมกับปราณชฎิลทั้งหมด ๑,๐๐๐ คน จากนั้นจึงได้เสด็จหลีกจาริกไปยังคยาสีสะประเทศ ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ คยาสีสะประเทศ ใกล้แม่น้ำคยาพร้อมกับภิกษุจำนวน ๑,๐๐๐ รูป

    ทรงประทับนั่ง แล้วทรงพระดำริว่า ธรรมกถาอะไรหนอ จักเป็นที่เหมาะแก่ชนเหล่านี้ จึงตกลงพระทัยว่า ชนเหล่านี้เคยบูชาไฟทั้งเวลาเย็นและค่ำ เราจักแสดงอายตนะ ๑๒ แก่พวกเขา ทำให้เป็นดุจไฟไหม้ลุกโชน ชนเหล่านี้จักสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระองค์ ได้ตรัสอาทิตตปริยายสูตรนี้ เพื่อแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นดังนี้

    ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง เป็นของร้อน
    ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

    ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายก็เป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุก็เป็นของร้อน.จักษุสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และเพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญเพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อน

    โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายก็เป็นของร้อน ฯลฯ
    ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายก็เป็นของร้อน ฯลฯ
    ลิ้นเป็นของร้อน รสก็เป็นของร้อน ฯลฯ
    กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะก็เป็นของร้อน ฯลฯ

    ใจเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายก็เป็นของร้อน มโนวิญญาณก็เป็นของร้อน มโนสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใดเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อนแล

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้เห็นได้ฟังแล้วอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณที่อาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในสัมผัสอาศัยจักษุ ความเสวยอารมณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส แม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายในความเสวยอารมณ์นั้น

    ย่อมเบื่อหน่ายในโสต ย่อมเบื่อหน่ายในเสียง ฯลฯ
    ย่อมเบื่อหน่ายในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายในกลิ่น ฯลฯ
    ย่อมเบื่อหน่ายในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายในรสทั้งหลาย ฯลฯ
    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ฯลฯ
    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ
    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย
    ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส

    ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์นั้น

    เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความกำหนัด เพราะคลายความกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

    พระอริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีก เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีกต่อไป ดังนี้.


    ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจบอาทิตตปริยายสูตรนี้ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตเพราะไม่ถือมั่นแล

    ในหมู่ชฏิลทั้ง ๑,๐๐๐ คนที่บรรลุพระอรหัตนั้นนั้น รวมถึงพระเพลัฏฐสีสเถระ (หรือ พระเวลัฏฐสีสเถระ) ด้วย ซึ่งต่อมา ท่านพระเถระนี้ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ของท่านพระอานนท์

    Image

    ๐ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร

    ทรงพระดำริว่า จักเปลื้องปฏิญญาที่ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ในเรื่องปฏิญญาที่ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสารมีเรื่องโดยย่อดังนี้

    เมื่อสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถราชกุมารได้ทรงผนวชที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำอโนมานที จากนั้นเสด็จจาริกไปตามลำดับจนถึงกรุงราชคฤห์ เที่ยวแสวงหาอาหารในกรุงราชคฤห์ ในระหว่างนั้น พระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่ที่ช่องพระแกล ทรงเห็นพระบรมศาสดาเสด็จพระดำเนินอยู่ ทรงเลื่อมใสในพระจริยาวัตร รับสั่งให้อำมาตย์ออกสืบว่าสมณะนั้นพักอยู่ที่ใด ครั้นทราบแล้วจึงได้เสด็จออกไปถึงที่ประมับนั้น ณ ปัณฑวบรรพต พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามถึงนามและโคตร ของภิกษุเจ้าชายสิทธัตถะ ครั้นทรงทราบว่าท่านเป็นพระโอรสพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ก็ตรัสขอให้ทรงรับราชสมบัติของพระองค์ ภิกษุเจ้าชายสิทธัตถะทูลปฏิเสธว่า อย่าเลยมหาบพิตร อาตมภาพไม่ต้องการ ราชสมบัติ อาตมภาพละราชสมบัติ มาประกอบความเพียร เพื่อต้องการเกื้อกูล แก่โลก ออกบวชด้วยหมายจักเป็นพระพุทธเจ้าตัดความหมุนเวียนในโลก และทรงรับปฏิญาณของพระเจ้าพิมพิสารที่ว่า ถ้าอย่างนั้น พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า แล้ว โปรดเสด็จมาแคว้นหม่อมฉันก่อนดังนี้

    เมื่อทรงมีพระดำริดังนั้นแล้ว จึงได้เสด็จไปยังลัฏฐิวัน อุทยานสวนตาลหนุ่ม ของพระเจ้าพิมพิสาร ณ ชานพระนครราชคฤห์

    ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ครั้นได้ทรงสดับจากสำนักของนายอุทยานบาลว่า พระศาสดาเสด็จมาแล้ว จึงทรงห้อมล้อมด้วย พราหมณ์และคฤหบดี ๑๒ นหุต (คือ ๑๒ หมื่น) เข้าไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อถึงแล้วจึงทรงหมอบพระเศียรลงแทบบาทของพระตถาคตเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งพร้อมกับบริษัท

    ลำดับนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นได้มีความสงสัยว่า พระมหาสมณะบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือว่าท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระมหาสมณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกของพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น จึงได้ตรัสกะพระเถระด้วยพระคาถาว่า

    ท่านอยู่ในอุรุเวลา (มานาน) ซูบผอม (เพราะบำเพ็ญพรต) เป็นผู้กล่าวสอน (ประชาชน)
    (ท่าน) เห็นโทษอะไรหรือ จึงละไฟ (ที่บูชา) เสีย
    ดูก่อนกัสสป เราถามเนื้อความนี้กะท่าน
    อย่างไรท่านจึงละการบูชาไฟเสียเล่า


    ฝ่ายพระเถระรู้พระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงแสดงคาถานี้ว่า

    ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญ รูป เสียง กลิ่นรส และหญิงที่น่าใคร่
    ข้าพระองค์รู้ว่า นี้เป็นมลทินในอุปธิทั้งหลาย
    เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง และการบูชา ดังนี้


    เพื่อที่จะประกาศที่ตนเป็นสาวก จึงซบศีรษะที่หลังพระบาทของพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดา ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้แล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส ๗ ครั้ง คือ ๑ ชั่วลำตาล ๒ ชั่วลำตาล จนประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมพระตถาคตแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง

    มหาชนได้เห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว พากันกล่าวพรรณนาพระคุณของพระศาสดาว่า น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพมาก แม้พระอุรุเวลกัสสป ชื่อว่ามีทิฏฐิเข้มแข็งอย่างนี้ สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ถูกพระตถาคตทำลายข่ายคือทิฏฐิทรมานแล้ว

    พระ ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราทรมานพระอุรุเวลกัสสป แต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หา มิได้ แม้ในอดีต พระอุรุเวลกัสสปนี้ก็ถูกเราตถาคตทรมานมาแล้วเหมือนกัน แล้วตรัสมหานารทกัสสปชาดก เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น

    แล้วทรงเทศนาอริยสัจ ๔ พระเจ้ามคธราชทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับ บริวาร ๑๑ นหุต ส่วนอีกหนึ่งนหุตประกาศความเป็นอุบาสก พระราชาทรง ประทับอยู่ในสำนักของพระศาสดานั้นแล ทรงประกาศเหตุอันมาซึ่งความสบายพระทัย ๕ ประการ แล้วทรงถึงสรณะ ทรงนิมนต์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ แล้ว เสด็จลุกจากพระอาสน์ ทรงกระทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเสด็จหลีกไป

    ในหมู่มหาชนที่ได้เห็น พระอุรุเวลากัสสปเถระ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ในสมาคมแห่งพระเจ้าพิมพิสาร แล้วแสดงความนอบน้อมถ่อมตน แด่พระบรมศาสดา นั้นก็รวมถึง วัจฉปาละ ซึ่งเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติในพระนครราชคฤห์ วัจฉปาลพราหมณ์เห็นดังนั้น ได้เกิดศรัทธาจิต บวชแล้ว พอบวชได้ ๗ วันเท่านั้นก็เจริญวิปัสสนาได้อภิญญา ๖ บรรลุพระอรหัต


    ๐ เหตุบัญญัติพระวินัยเรื่องเครื่องโลหะ
    พุทธานุญาตเครื่องโลหะเป็นต้น


    สมัยต่อมา เมื่อท่านพระอุรุเวลกัสสปบวชแล้ว เครื่องโลหะ เครื่องไม้ เครื่องดินบังเกิดแก่สงฆ์เป็นอันมาก ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า เครื่องโลหะชนิดไหนพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชนิดไหนไม่ทรงอนุญาต เครื่องไม้ชนิดไหนทรงอนุญาต ชนิดไหนไม่ทรงอนุญาต เครื่องดินชนิดไหนทรงอนุญาต ชนิดไหนไม่ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทางทำธรรมีกถาเพราะเหตุนั้นเป็นเค้ามูล แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องโลหะทุกชนิด เว้นเครื่องประหาร อนุญาตเครื่องไม้ทุกชนิด เว้น เก้าอี้นอนมีแคร่ บัลลังก์ บาตรไม้และเขียงไม้ อนุญาตเครื่องดินทุกชนิด เว้น เครื่องเช็ดเท้าและกุฎีที่ทำด้วยดินเผา ฯ

    Image

    ๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง
    เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีบริษัทมาก


    ภิกษุจำนวน พันรูป บริวารของอุรุเวลกัสสปเหล่านั้น คิดด้วยความคุ้นเคยของตนว่า กิจบรรพชิตของพวกเราถึงที่สุดแล้ว พวกเราจักไปภายนอกทำอะไร จึงเที่ยวห้อมล้อมท่านพระอุรุเวลกัสสปอย่างเดียว บรรดาภิกษุชฎิล ทั้งสามนั้น เมื่อภิกษุชฎิลแต่ละองค์รับนิสสิตก์ได้ครั้งละองค์ ก็เป็น สองพัน เมื่อรับได้ครั้งละสององค์ ก็เป็นสามพัน ตั้งแต่นั้นมานิสสิตก์ ของภิกษุชฎิลเหล่านั้นมีเท่าใด จะกล่าวถึงนิสสิตก์เท่านั้น ก็ควรแล ในข้อนั้น มีวัตถุนิทาน ดังนี้ แต่ต่อมา พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระ เชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอด ของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัทมาก ดังนี้แล


    ๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

    ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ดังที่ปรากฏในชาดก คือ

    เกิดเป็นพระเจ้าอังคติราช (หรือ พระเจ้าวิเทหราช) ผู้มีทิฏฐิชั่ว พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน มหานารทกัสสปชาดก


    ๐ ศิษย์ที่ปรากฎชื่อในพระไตรปิฎก
    หรือในอรรถกถาของท่าน


    พระเพลัฏฐสีสเถระ (หรือพระเวลัฏฐสีสเถระ) ในพุทธกาลนี้ ในเวลาก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ตรัสรู้ อภิสัมโพธิญาณ ท่านได้บวชเป็นดาบสในสำนักของอุรุเวลกัสสปดาบส ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาทรง แสดงอาทิตตปริยายสูตร ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยชฎิล พันหนึ่ง ในอรรถกถาเล่มที่ ๕๐ กล่าวว่าท่านเป็นอุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.dharma-gateway.com/
    http://www.manager.co.th/Dhamma/

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved