หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    "วัดป่าขาด”ตระหง่านสู้ภัยธรรมชาติด้วยวิถีพุทธ

    "วัดป่าขาด”ตระหง่านสู้ภัยธรรมชาติด้วยวิถีพุทธ : เรื่อง/ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ ศูนย์ข่าวภาคใต้

                  “เป็นเรื่องธรรมดาของวัดที่วางตัวอยู่ริมเล ยามเมื่อหน้ามรสุมมาเยือน เราไม่มีทางหนีคลื่นลมกำลังแรงที่ถาโถมเข้าใส่ชายฝั่ง แม้บางครั้งวัดต้องเสียหายไปบ้าง แต่นั่นเป็นเรื่องของธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้คือจงมีสติและเตรียมใจให้พร้อมในการเรียนรู้เพื่อเข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนชีวิตคนเกิดแล้วต้องมีดับ” นี่คือน้ำเสียงของ พระสมุห์สมนึก สิขจิตโต เจ้าอาวาสวัดป่าขาด ที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติแทบทุกปี
     
                  วัดป่าขาด ตั้งอยู่ติดกับริมทะเล ในพื้นที่ ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งมีความเก่าแก่เป็นวัดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๕๐ และได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ. ๒๒๕๐ โดยในอดีตการเดินทางมายังศาสนสถานแห่งนี้ผู้คนในพื้นที่จะต้องสัญจรทางเรือ เนื่องจากด้านหลังวัดจะวางตัวติดทะเลสาบ ส่วนด้านหน้าจะติดกับทุ่งนา โดยมีเพียงคนละแวกวัดเท่านั้นที่สามารถเดินด้วยเท้าลัดทุ่งนามายังวัด การดำเนินชีวิตของชาวบ้านละแวกนี้ ประกอบอาชีพ ๓ อย่าง คือ ขึ้นตาลโตนด ทำนา และออกทะเล หรือเรียกว่า วิถี "โหนด-นา-เล”
     
                  วัดแห่งนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี มีเจ้าอาวาสมาแล้ว ๗ รูป ตั้งแต่ พระใบฎีกาจูด พระอธิการอิ่ม พระอธิการคล้าย เกสโร พระอธิการเส้ง พระครูโสภณธรรมาราม พระครูสิริธรรมวโรภาส และพระสมุห์สมนึก สิขจิตโต ซึ่งทั้งหมดล้วนยึดหลักเดียวกันในการยืนหยัดอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้คือ “ไม่มีพายุลูกใดเกิดแล้วไม่จางหาย”
     
                  แม้จะเป็นวัดที่มีความเก่าแก่อายุมากกว่าร้อยปี ทำให้โบราณวัตถุหลายอย่างเสื่อมสภาพและชำรุดไปตามกาลเวลา ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องทรุดโทรมด้วยปัจจัยที่เกิดจากภัยธรรมชาติ อันเนื่องมาจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยทุกๆ ปี ทำให้คลื่นลมในทะเลมีความสูง ๓-๔ เมตร และยังมีกำลังแรงมากกว่าช่วงเวลาปกติ
     
                  ทั้งนี้ โดยปกติแล้วมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ จะอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม-ต้นเดือนมกราคม ทุกปี ซึ่งห้วงเวลานี้เรียกได้ว่าเป็น “หน้ามรสุม” ของชาวใต้ฝั่งตะวันออก นั่นเอง
     
                  จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้วัดริมชายฝั่งแห่งนี้นอกจากต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติแล้ว ยังต้องยืนหยัดเป็นที่พึ่งทางใจ สยบความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย เพราะพุทธบริษัทต่างหวาดหวั่นเรื่อง “วาตภัย” เป็นอย่างมาก
      
                  เจ้าอาวาสวัดป่าขาด เล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้ปัจจุบันมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวน ๕ รูป และแทบทุกปีสิ่งที่วัดเล็กๆ แห่งนี้ต้องประสบพบเจอในฤดูมรสุม คือ ปัญหาหลังคาศาลาการเปรียญ หลังคากุฏิที่พักสงฆ์ ปลิวลอยละล่องไปกับแรงลมที่เคลื่อนตัวจากทะเลเข้าหาชายฝั่ง เฉกเช่นเดียวกับบ้านเรือนราษฎรรอบๆ วัด ที่หลังคาที่หลับนอนต้องหายไปเป็นแถบๆ
       
                  หน้ามรสุมปีที่แล้วถือว่าหนักมาก เพราะมีเหตุการณ์วาตภัยเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่ง จ.สงขลา ทำให้วัดและบ้านเรือนที่วางตัวตามชายฝั่งได้รับความเสียหายเป็นทิวแถว ซึ่งถือว่าหนักกว่าทุกปี และมีโยมหลายคนมาแสดงความโศกา เราก็ได้แต่สอนว่า กฎแห่งกรรมและกฎของธรรมชาติ คือ สิ่งเดียวกันที่เราทุกคนหนีไม่พ้น แต่เราต้องอยู่อย่างเข้าใจ 
      
                  ทั้งนี้ เจ้าอาวาสวัดป่าขาด พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "การเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติคือทางรอด นอกจากนี้การเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมคือหนทางในการบรรเทาความเดือดร้อนที่มาพร้อมกับภัยพิบัติ วัดต้องหาช่วยตัวเอง และต้องช่วยชาวบ้านไปด้วยในตัว เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง ดังนั้นที่วัดแห่งนี้จึงเตรียมกระเบื้อง เตรียมวัสดุในการซ่อมบำรุงอยู่เสมอ โดยจะไม่เบียดบังสินทรัพย์ของญาติโยม เนื่องจากในสถานการณ์เดียวกันนี้ พุทธบริษัทละแวกนี้ก็ลำบากไม่แพ้กัน ดังนั้นต้องเรียนรู้และเข้าใจกฎของธรรมชาติ ทุกชีวิตจึงจะก้าวผ่านวิกฤติตรงหน้าไปได้"


    • Update : 11/1/2555
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved