หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวนและบริสุทธิ์

             พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยนั้น สามารถแบ่งแยกออกเป็นหลายหมวดหมู่ แต่ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน คือ "พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวน" ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ และ "พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์"

    "วัดตะกวน" เป็นวัดเก่าแก่ในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งแทบไม่หลงเหลือซากปรักหักพังของศาสนวัตถุหรือเสนาสนะใดๆ จะมีก็เพียง พระเจดีย์ทรงกลมทรงลังกาหนึ่งองค์ ซากพระวิหารขนาดกลางทางทิศตะวันออก และตระพังตะกวน ("ตระพัง" คือแอ่งน้ำ หรือหนองน้ำ ซึ่งจะมีตามวัดทั่วไปในเมืองสุโขทัยและจะเรียกชื่อตามวัดนั้นๆ ส่วนคำว่า "ตะกวน" เป็นภาษาเขมร แปลว่าผักบุ้ง) ซึ่งเป็นสถานที่พบพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแปลกจากที่พบเห็นโดยทั่วไป จึงตั้งชื่อเรียกตามชื่อวัดว่า "พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวน" และนิยมเรียกกันต่อมาเมื่อพบพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกัน ไม่ว่าที่วัดใดก็ตาม

    "พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวน" เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยแบบขัดราบ บนอาสนะแบบฐานเขียง พระเกศ เป็นแบบเปลวสูง และเม็ดพระศก เป็นแบบก้นหอยขนาดเล็ก เช่นเดียวกับพระพุทธรูปสุโขทัย แต่ลักษณะของพระเศียรจะเป็นกระพุ้ง ทำให้แลดูใหญ่กว่า พระเนตรหลุบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้มลงเล็กน้อยเช่นกัน พระโอษฐ์พริ้มเล็กน้อยเหมือนแย้มพระโอษฐ์ แต่แลดูเคร่งขรึมกว่า

    พระพักตร์มีลักษณะกลมแบน พระนลาฏค่อนข้างเล็กและแคบกว่า พระกรรณยาวแต่ไม่จรดพระอังสา และช่วงปลายโค้งงอนงดงาม พระวรกายเว้าแบบมีทรง อยู่ในลักษณะผ่อนคลายและปล่อยวางเต็มที่ ในพุทธลักษณะสบายๆ แต่ดูล่ำสันกว่า

    พระกรทั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย ทอดลงมาที่พระเพลาอย่างอ่อนช้อย และเล่นนิ้วพระหัตถ์แต่พองาม การซ้อนของพระเพลางอนขึ้นเล็กน้อย พระสังฆาฏิทอดยาวลงมาเสมอพระนาภี และปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ และฐานเขียงจะบางและแคบกว่า

    พุทธลักษณะที่แตกต่างดังกล่าว สันนิษฐานว่าอาจมาจากการรังสรรค์พุทธศิลปะตามจินตนาการของนายช่างไทยแต่ละคน ทำให้พุทธลักษณะของพระพุทธรูปออกจะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่ก็ยังคงความงดงาม ประการสำคัญคือมีการรับอิทธิพลของศิลปะเขมรเมืองพระนครตอนปลายเข้ามาปะปนด้วย

    ส่วน "พระพุทธรูปสุโขทัยบริสุทธิ์" เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามอ่อนช้อย แต่คงไว้ซึ่งความสง่างาม พระพักตร์อิ่มเอิบเปี่ยมด้วยพระเมตตา สมเป็นรูปสมมติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

    พระพุทธรูปสุโขทัยบริสุทธิ์ เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 มาเฟื่องฟูในสมัยพระยาลิไท เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในการศึกษาทางพุทธศาสนาอย่างมาก จนสามารถพระราชนิพนธ์หนังสือ "ไตรภูมิพระร่วง" จนสำเร็จได้

    อีกทั้งได้รับสมญานามว่า "พระมหาธรรมราชา" ซึ่งมีความหมายว่า ทรงใช้ "ธรรม" เป็นเครื่องมือในการขยายพระราชอำนาจ นับเป็น "ยุคทองของศิลปกรรมสุโขทัย" สังเกตได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุอันเป็นปูชนียสถานและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนามากมายที่สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ มีอาทิ "พระศรีศากยมุนี" ในวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย

    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดฯ ให้อาราธนามาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร มาจนถึงปัจจุบัน และ พระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก "พระสุโขทัยไตรมิตร" วัดไตรมิตรวิทยาราม กทม.เป็นต้น

    พุทธลักษณะของพระพุทธรูปสุโขทัย นอกจากได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปจากประเทศลังกาแล้ว ยังต้องอาศัยฝีมือของนายช่างไทยในสมัยนั้น ที่ใช้จินตนาการในการรังสรรค์พระพุทธรูปให้มีพุทธศิลปะเฉพาะ ซึ่งฉีกแนวคิดออกจากอิทธิพลเดิมๆ จนมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามและถือเป็นศิลปะอันบริสุทธิ์

    อันประกอบด้วยพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ พระเกศ ทำเป็นอย่างเปลวเพลิงสูง พระศก ขมวดเป็นก้นหอยเล็ก และพระพักตร์ เป็นหน้านางหรือหน้ารูปไข่ พระเนตรหลุบต่ำ ทำให้ได้รับความรู้สึกจากพระพักตร์อันเต็มไปด้วยพระเมตตา พระวรกายโดยรวมดูชะลูดอย่างมีทรง และเน้นกล้ามเนื้อดูพองามที่พระนาภี

    พระกรทั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย ทอดลงมาที่พระเพลาอย่างอ่อนช้อย และเล่นนิ้วพระหัตถ์แต่พองาม ดูไม่แข็งกระด้าง การซ้อนของพระเพลา งอนขึ้นเล็กน้อยและดูรับกันทั้งสองข้าง พระสังฆาฏิทอดยาวลงมาเสมอพระนาภี และปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ และฐานองค์พระเป็นลักษณะฐานเขียง


    • Update : 24/10/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved